ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 11 - 12 กุมภาพันธ์ 2565
หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือนอกเวลาที่ภันเต (พระรุ่นพี่) ให้ผมอ่านในขณะที่บวชอยู่ ณ วัดญาณเวศกวัน หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดแก่ผมหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่ว่า "มนุษย์" นั้นฝึกได้ เมื่อฝึกได้จึงพัฒนาได้ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ฝึกได้และพัฒนาได้ทั้งนั้น เรื่องการใช้ชีวิตให้ไม่ทุกข์และมีสุขเองก็เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือเราจะฝึกอย่างไรให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด (เพราะเวลาของคนเราไม่ใช่ว่าเยอะ!) ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้นเป็นเสมือนหนังสือฮาวทูที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว และมีคนรีวิวไว้มากมายว่าเป็นไปได้และได้ผลจริง ถ้าเราเข้าใจหลักธรรมะและปฏิบัติตามได้ ก็คงจะเห็นทุกข์และสุขเป็นได้แน่นอน เราทำได้ครับ!
คำคมจากหนังสือ "ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น"
นิโรธนั้นที่แท้ไม่ได้แปลแค่ดับทุกข์
ขอให้สังเกตว่า "นิโรธ" นั้นแปลว่า การไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์
- หน้า 20 -
พุทธศาสนาสอนให้รู้ทันทุกข์ และให้อยู่เป็นสุข
- หน้า 21 -
ที่จริงมันเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ
แต่เมื่อเราไปสัมพันธ์ ปฏิบัติต่อมันไม่ถูก
จึงเกิดเป็นทุกข์ในใจของเราขึ้นมา
- หน้า 28 -
มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ
คือต้องฝึก ต้องเรียนรู้
และเรียนรู้ได้ ฝึกได้
- หน้า 33 -
สาระของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้
คือการนำเอาความรู้ในธรรมชาติและกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์
สนองจุดหมายที่เราต้องการ
คือการพัฒนามนุษย์
- หน้า 45 -
พอปัญญามา รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร
จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร เราจะเอามันมาใช้ทำอะไรได้
ก็โล่งโปร่งสบายใจ หมดปัญหา
ไม่บีบคั้นติดขัดคับข้อง ใจก็โล่งไป
- หน้า 47 -
ปัญญามาก็ทำให้จิตใจเป็นอิสระ
มีความสุข โล่งโปร่ง แก้ปัญหาได้
เรียกว่าเป็นตัวปลดปล่อย
คือ liberate จิตใจ
- หน้า 47 -
สมาธิ แปลว่าจิตตั้งมั่น
คือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ
- หน้า 50 -
การดำเนินชีวิตชนิดที่มีการศึกษาพัฒนาชีวิตไปด้วยในตัว
จึงจะเป็นชีวิตที่ดี
- หน้า 51 -
ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น
ถ้าจะให้มนุษย์พัฒนา
มนุษย์จะต้องใช้อินทรีย์เพื่อรู้หรือศึกษาให้มาก
- หน้า 55 -
พอเกิดฉันทะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
นี้คือ แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม
เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา
- หน้า 58 -
จำไว้อย่างหนึ่งว่า
พระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด
- หน้า 60 -
ให้สันโดษในวัตถุเสพบริโภค
แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
- หน้า 68 -
จงพยายามพึ่งตน
ด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้
- หน้า 73 -
เราพึ่งคนอื่น เช่นพึ่งพระพุทธเจ้า
ก็เพื่อทำตัวเราให้พึ่งตนเองได้
- หน้า 75 -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น