วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

【รีวิว】นิติศาสตร์แนวพุทธ

หนังสือ "นิติศาสตร์แนวพุทธ"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 23 - 27 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือ "นิติศาสตร์แนวพุทธ" เล่มนี้ มีประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังศึกษาวิชานิติศาสตร์แบบผมอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผมรู้จักหลักการของนิติศาสตร์และนิติบัญญัติในแนวทางพระพุทธศาสนา  ทำให้ผมรู้ว่าการเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้น ควรจะมีแนวคิดอย่างไร ควรจะสร้างสรรค์กฎหมายแบบใดออกมา  หากผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายได้อ่านหนังสือเล่มนี้และนำไปปฏิบัติ กฎหมายไทยคงจะดีขึ้นมากเลย

คำคมจากหนังสือ "นิติศาสตร์แนวพุทธ"


การปกครองที่ดีมุ่งเพื่อประโยชน์ของประชาชน
การตั้งกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน
- หน้า 14 -

ธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา
พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด
มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น
- หน้า 25 -

กฎหมายไม่ได้มีขึ้น
เพียงเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีเท่านั้น
แต่สร้างสภาพเอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาความสามารถ
ที่จะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย
- หน้า 80 -

สามัคคีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตหมู่
หรือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย
- หน้า 87 -

ถ้าสมมติไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม
หรือไม่เป็นไปตามธรรม
ก็จะทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน
ไม่สามารถร่วมจิตร่วมใจกัน
และยอมรับสมมตินั้นไม่ได้
แล้วความขัดแย้งแตกสามัคคีก็จะเกิดขึ้น
- หน้า 88 -

การปกครองที่ดี
คือการปกครองโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ
และกฎหมายที่ดี
คือบัญญัติที่เป็นข้อหมายรู้ในการที่จะเป็นอยู่และทำกิจในการมีชีวิตร่วมกัน
- หน้า 102 -

สังคมมนุษย์นั้น
มนุษย์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์
มิฉะนั้นก็จะพินาศ
- หน้า 103 -

การที่จะเอากฎหมายเป็นเกณฑ์
ก็จะต้องคอยตรวจสอบกฎหมายตลอดเวลาด้วย
โดยเฉพาะต้องดูว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริง
ของกฎธรรมชาติคือตัวธรรมหรือเปล่า
- หน้า 111 -

ความสำเร็จของมนุษย์
ตามความหมายแห่งกฎแท้ของธรรมชาติ
คือการทำให้ชีวิตดีงามมีความสุข
สังคมสันติ และโลกเป็นแดนเกษม
- หน้า 129 -

กฎหมายที่ออกมา
เป็นต้วฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของนักกฎหมาย
หรือของผู้ทำงานนิติบัญญัติ
- หน้า 133 -

ผู้บัญญัติกฎหมายก็ตาม
ผู้ใช้กฎหมายก็ตาม
จึงต้องไม่ประมาท
จะต้องศึกษาพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา
เพื่อให้มีปัญญายิ่งขึ้น
และมีเจตนาดียิ่งขึ้น
- หน้า 136 -

การศึกษาด้านนิติศาสตร์...
เป็นการศึกษา เพื่อสื่อสัจธรรมในธรรมชาติ
สู่อารยธรรมของมนุษย์ชาติทั้งหมด
และเพื่อรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติให้ดำรงอยู่
ในดุลยภาพแห่งสัจธรรมของธรรมชาติ
ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างดีที่สุด
- หน้า 137 -

【รีวิว】นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)

หนังสือ "นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"
ผู้เขียน : โอม รัชเวทย์
วันที่อ่าน : 21 - 22 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือ "นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)" เล่มนี้ บอกเล่าชีวประวัติของนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี อุบาสกอุบาสิกาคนสำคัญในพระพุทธศาสนา  การเรียนรู้ชีวประวัติของท่านทั้งสอง ทำให้เราได้เห็นถึงพลังแห่งความศรัทธา ที่คน ๆ หนึ่งสามารถอุทิศแด่พระพุทธศาสนาได้  เมื่อได้มองท่านทั้งสองแล้วก็ได้ย้อนมามองตัวเรา ว่าเราได้ทำอะไรเพื่อศาสนานี้บ้างแล้วหรือยัง

คำคมจากหนังสือ "นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"


เธอนั้นนำความสุขความสำเร็จของเธอเองไปผูกติดกับผู้อื่น
สิ่งทั้งปวงที่ตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น
- พระพุทธเจ้า, หน้า 38 -

คำสอนของพระองค์ไพเราะแจ่มแจ้ง
เหมือนหงายของที่คว่ำให้เปิดออก
บอกทางแก่คนหลงทาง
ส่องไฟในที่มืดให้สว่าง
- อนาถบัณฑิกเศรษฐี, หน้า 69 -

【รีวิว】พระสังกัจจายน์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)

หนังสือ "พระสังกัจจายน์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"
ผู้เขียน : โอม รัชเวทย์
วันที่อ่าน : 23 กุมภาพันธ์ 2565 (วันเดียวจบ)


         หนังสือ "พระสังกัจจายน์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)" เล่มนี้ ทำให้รู้จักประวัติพระสังกัจจายน์อย่างถูกต้องมากขึ้น ทำให้รู้เลยว่าคนส่วนใหญ่ (รวมถึงตัวผม) ยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับพระสังกัจจายน์ โดยเอาไปปะปนกับเมตไตรยของจีนที่มีรูปร่างอ้วนเหมือนกัน  นอกจากได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว การอ่านชีวประวัติของท่านยังทำให้ได้เห็นหลักธรรม คือการไม่ยึดมั่นในรูปลักษณ์ภายนอกของตัวท่านด้วย

【รีวิว】พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)

หนังสือ "พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)"
ผู้เขียน : ชัยณรงค์ วิริยานนท์, รวิ ลิ้มวิวัฒน์
วันที่อ่าน : 18 กุมภาพันธ์ 2565 (วันเดียวจบ)


         หนังสือ "พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)" เล่มนี้ ทำให้ผมได้ทราบชีวประวัติ แนวคิด และแรงบันดาลใจในการอุปสมบทของท่านพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก  ในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็กำลังเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดญาณเวศกวันพอดี  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมีพลังและความปลื้มปีติในการบวชมากขึ้นอีก
         แม้ว่าปัจจุบันพระอาจารย์จะได้ลาสิกขาแล้ว แต่ผมเชื่อว่าคุณความดีที่พระอาจารย์ได้ทำได้ จะอยู่คู่โลกใบนี้ต่อไปไม่เสื่อมคลายครับ

คำคมจากหนังสือ "พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)"


เมื่อขาดสติ
ใจก็กลายเป็นใจที่ไม่ดี
อยู่ที่ไหนก็มีแต่ทุกข์...
- เจ้าชายสิทธัตถะ, หน้า 26 -

【รีวิว】ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา

หนังสือ "ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 16 - 17 กุมภาพันธ์ 2565



         หนังสือ "ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา" เล่มนี้ เป็นบทบรรยายการเทศนาที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้แสดงเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ณ โรงเรียนปัญญาประทีป  เรียกได้ว่าเป็นการเทศนาที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี  หลวงพ่อสมเด็จได้แนะนำหลัก "ปฏิสัมภิทา ๔" หรือ "ปัญญาแตกฉาน" ที่เยาวชนสามารถนำไปใช้กับข้อมูลข่าวสารได้

คำคมจากหนังสือ "ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา"


เด็ก ๆ ลูกหลาน นักเรียนก็จึงให้พรแก่ผู้ใหญ่ได้
คือให้พรด้วยการกระทำของเรา
ด้วยการศึกษาของเรา
- หน้า 5 -

"กินอยู่ดี"
หมายความว่ารู้จักกินสิ่งที่ดี ให้พอดี
ที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิต
ทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม
มีสุขภาพดีแข็งแรง
- หน้า 6 -

จิตใจที่ดีนั้น
ร่าเริง เบิกบาน สดชื่น ผ่องใส
ไม่เครียด ไม่ขุ่นมัว ไม่มีความซึมเศร้าเหงาหงอย
หรือฟุ้งซ่านกระวนวายอะไรต่าง ๆ
- หน้า 10 -

ใจจะเข้มแข็งก็ต้องมีความเพียร
พูดยาว ๆ ว่าขยันหมั่นเพียร
พูดสั้น ๆ ว่าใจสู้
- หน้า 13 -

น้ำที่สงบนิ่ง
ก็เหมือนกับใจที่เป็นสมาธิ
เป็นใจที่ใส
ปัญญาจะดูจะคิดจะพิจารณาอะไร
ก็มองเห็นชัดไปหมด
- หน้า 19 -

【รีวิว】พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)

หนังสือ "พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"
ผู้เขียน : โอม รัชเวทย์
วันที่อ่าน : 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือ "พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)" บอกเล่าเรื่องราวชีวประวัติของพระอานนท์ พระอุปัฏฐากผู้ดูแลพระพุทธเจ้าอย่างเสียสละทุ่มเท และเป็นพหูสูตผู้รอบรู้และจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ทั้งหมด  การเรียนรู้ชีวประวัติของท่าน ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตโดยมีท่านเป็นแบบอย่าง ทั้งด้านการเอาใจใส่และความเพียร  ถ้าเราปฏิบัติตามพระอานนท์ เชื่อว่าชีวิตเราจะประเสริฐขึ้นเป็นแน่ แม้จะอยู่ในฐานะฆราวาสก็ตาม

คำคมจากหนังสือ "พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"


ปัญญาที่มีสมาธิเป็นราก
เปรียบได้ดั่งดวงประทีป
เมื่อลุกโพลงขึ้นในใจ
ย่อมขจัดกิเลส
ซึ่งเสมือนความมืดให้หมดสิ้น
- หน้า 70 -

ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนของเรา
จึงจะได้ชื่อว่าสักการบูชาเราด้วยอาการอันยอดยิ่ง
- พระพุทธเจ้า, หน้า 88 -

เรานิพพานแต่เพียงร่างกายเท่านั้น
หลักธรรมยังคงอยู่ต่อไป
- พระพุทธเจ้า, หน้า 97 -

จิตมีธรรมชาติผ่องใสเหมือนจันทร์เจ้า
แต่มีเมฆหมอกคือกิเลสมาบดบังเป็นครั้งคราว
จิตจึงเศร้าหมอง
- พระสุภัททะ, หน้า 105 -

【รีวิว】ชีวิตที่สมบูรณ์

หนังสือ "ชีวิตที่สมบูรณ์"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 14 กุมภาพันธ์ 2565 (วันเดียวจบ)

(คนละปกกับที่อ่าน)

         หนังสือ "ชีวิตที่สมบูรณ์" เป็นหนังสือที่รวบรวมแนวคิดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ผู้เขียน เกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลักการดำเนินชีวิตให้มีชีวิตที่สมบูรณ์  ขอยกตัวอย่างหัวข้อเด่น ๆ เช่น "ทำไม โลกยิ่งพัฒนา ชาวประชายิ่งเป็นคนที่สุขยาก" "ความสุขจะเพิ่มทวี ถ้าพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ" "การพัฒนาแบบยั่งยืน มาด้วยกันกับความสุขแบบยั่งยืน"
         ถ้าเพื่อน ๆ คนใดอยากดำเนินชีวิตอย่างมี "ความสุข" มากขึ้น ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ  บาง ๆ อ่านไม่นานก็จบ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า... ความสุขไม่ได้มีแค่แบบเดียว

คำคมจากหนังสือ "ชีวิตที่สมบูรณ์"


ในเวลาที่ทำบุญนี่
ใจอย่าติดอยู่แค่พระ
ใจเราจะต้องมองยาวต่อออกไปถึงพระศาสนา
- หน้า 2 -

ตราบใดเรายังมีความสุขที่อิงอาศัยอยู่
มันก็เป็นความสุขที่ยังไม่เป็นอิสระ
- หน้า 14 -

ปัญหาของมนุษย์นั้นเกิดจากการที่ไม่รู้เท่าทันความจริง
แล้วก็วางใจต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง
จึงทำให้เราถูกธรรมชาติเบียดเบียนบีบคั้น
และครอบงำอยู่ตลอดเวลา
- หน้า 15 -

ถ้าต้องการจะให้เป็นไปตามที่เรากำหนดหรือตามที่มันควรจะเป็น
แล้วเราศึกษาเหตุปัจจัย รู้เหตุปัจจัย
และไปทำเหตุปัจจัยให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ
ก็จะเกิดผลสำเร็จขึ้น
- หน้า 17 -

เวลามองสิ่งต่าง ๆ
จะไม่มองด้วยความชอบใจหรือไม่ชอบใจ
แต่มองด้วยปัญญาที่ว่ามองตามเหตุปัจจัย
- หน้า 20 -

คนที่ดำเนินชีวิตเป็น
จะใช้ประโยชน์จากโลกธรรมฝ่ายร้ายได้
ทั้งในแง่เป็นเครื่องทดสอบจิตใจ
และเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา
- หน้า 30 -

ถ้าจิตถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบกระทั่งแล้วไม่หวั่นไหว
ยังสามารถมีใจเบิกบานเกษมปลอดโปร่ง
ไม่มีธุลีไร้ความขุ่นมัวเศร้าหมองผ่องใสได้
ก็เป็นมงคลอันสูงสุด
มงคลทั้ง 38 ประการมาจบลงสุดท้ายที่นี่
- หน้า 31 -

【รีวิว】รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง

หนังสือ "รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 12 - 14 กุมภาพันธ์ 2565




         หนังสือเล่มนี้ เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลาขณะบวชที่วัดญาณเวศกวัน  ผู้เขียน (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระไตรปิฎกผ่านคำอธิบาย ตัวอย่าง และการตอบข้อโต้เถียงต่าง ๆ อย่างเข้าใจง่าย  ไม่ใช่เนื้อหาหนัก ๆ แบบที่หลายคนอาจคิดไว้เมื่อได้เห็นคำว่า "พระไตรปิฎก" ในชื่อเรื่อง  ถ้าเพื่อน ๆ อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็จะได้เข้าใจเรื่องพระไตรปิฎกมากขึ้น ว่าอะไรคือพระไตรปิฎกบาลี อะไรคือพระไตรปิฎกภาษาไทย  รวมถึงได้รู้แนวคิดของผู้เขียนที่มีต่อแนวคิด "พุทธวจน" ด้วยครับ

【รีวิว】ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น

หนังสือ "ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 11 - 12 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือนอกเวลาที่ภันเต (พระรุ่นพี่) ให้ผมอ่านในขณะที่บวชอยู่ ณ วัดญาณเวศกวัน  หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดแก่ผมหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่ว่า "มนุษย์" นั้นฝึกได้  เมื่อฝึกได้จึงพัฒนาได้  ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ฝึกได้และพัฒนาได้ทั้งนั้น เรื่องการใช้ชีวิตให้ไม่ทุกข์และมีสุขเองก็เช่นกัน  แต่สิ่งสำคัญก็คือเราจะฝึกอย่างไรให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด (เพราะเวลาของคนเราไม่ใช่ว่าเยอะ!)  ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้นเป็นเสมือนหนังสือฮาวทูที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว และมีคนรีวิวไว้มากมายว่าเป็นไปได้และได้ผลจริง  ถ้าเราเข้าใจหลักธรรมะและปฏิบัติตามได้ ก็คงจะเห็นทุกข์และสุขเป็นได้แน่นอน  เราทำได้ครับ!

คำคมจากหนังสือ "ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น"


นิโรธนั้นที่แท้ไม่ได้แปลแค่ดับทุกข์
ขอให้สังเกตว่า "นิโรธ" นั้นแปลว่า การไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์
- หน้า 20 -

พุทธศาสนาสอนให้รู้ทันทุกข์ และให้อยู่เป็นสุข
- หน้า 21 -

ที่จริงมันเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ
แต่เมื่อเราไปสัมพันธ์ ปฏิบัติต่อมันไม่ถูก
จึงเกิดเป็นทุกข์ในใจของเราขึ้นมา
- หน้า 28 -

มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ
คือต้องฝึก ต้องเรียนรู้
และเรียนรู้ได้ ฝึกได้
- หน้า 33 -

สาระของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้
คือการนำเอาความรู้ในธรรมชาติและกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์
สนองจุดหมายที่เราต้องการ
คือการพัฒนามนุษย์
- หน้า 45 -

พอปัญญามา รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร
จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร เราจะเอามันมาใช้ทำอะไรได้
ก็โล่งโปร่งสบายใจ หมดปัญหา
ไม่บีบคั้นติดขัดคับข้อง ใจก็โล่งไป
- หน้า 47 -

ปัญญามาก็ทำให้จิตใจเป็นอิสระ
มีความสุข โล่งโปร่ง แก้ปัญหาได้
เรียกว่าเป็นตัวปลดปล่อย
คือ liberate จิตใจ
- หน้า 47 -

สมาธิ แปลว่าจิตตั้งมั่น
คือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ
- หน้า 50 -

การดำเนินชีวิตชนิดที่มีการศึกษาพัฒนาชีวิตไปด้วยในตัว
จึงจะเป็นชีวิตที่ดี
- หน้า 51 -

ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น
ถ้าจะให้มนุษย์พัฒนา
มนุษย์จะต้องใช้อินทรีย์เพื่อรู้หรือศึกษาให้มาก
- หน้า 55 -

พอเกิดฉันทะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
นี้คือ แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม
เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา
- หน้า 58 -

จำไว้อย่างหนึ่งว่า
พระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด
- หน้า 60 -

ให้สันโดษในวัตถุเสพบริโภค
แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
- หน้า 68 -

จงพยายามพึ่งตน
ด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้
- หน้า 73 -

เราพึ่งคนอื่น เช่นพึ่งพระพุทธเจ้า
ก็เพื่อทำตัวเราให้พึ่งตนเองได้
- หน้า 75 -

【รีวิว】พระนางพิมพา (ฉบับการ์ตูนสี่สี)

หนังสือ "พระนางพิมพา (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"
ผู้เขียน : โอม รัชเวทย์
วันที่อ่าน : 8 - 9 กุมภาพันธ์ 2565


         การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจชีวิตของพระนางพิมพา ผู้เป็นพระมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะมากขึ้น  ไม่ใช่แค่ในชาติสุดท้าย แต่หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระนางพิมพา ที่เคยได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายชาติ  อ่านแล้วรู้สึกถึงความศรัทธาอันแรงกล้าของพระนางที่มีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย  รับรู้ได้ว่าหากคนเรามีจิตมุ่งมั่นผูกพันกัน  ความตั้งมั่นนั้นอาจทำให้ได้พบพานและช่วนเหลือเกื้อกูลกันในทุกชาติก็เป็นได้

คำคมจากหนังสือ "พระนางพิมพา (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"


พิมพา...มเหสีข้า
ความทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะมาถึงเจ้าในไม่ช้า
ข้าต้องช่วยเจ้าให้ได้
- เจ้าชายสิทธัตถะ, หน้า 53 -