วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】รัฐราชาชาติ

หนังสือ "รัฐราชาชาติ"
ผู้เขียน : ธงชัย วินิจจะกูล
วันที่อ่าน : 25 ตุลาคม - 17 ธันวาคม 2565



         นี่เป็นผลงานของ อ.ธงชัย เล่มแรกที่ผมอ่านครับ  บอกไว้ก่อนว่าผมเองยังมีความรู้ในด้านนี้อยู่น้อยนิดมาก ๆ ทำให้ในบางบทผมอาจจะอ่านแล้วยังงง ๆ อยู่บ้าง  บวกกับการที่บางบทแปลมาจากภาษาอังกฤษ ทำให้ผมคิดว่า ถ้าได้อ่านภาษาต้นฉบับที่อาจารย์เขียน อาจจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

        อย่างไรก็ตาม มีหลายบทที่ผมอ่านเข้าใจ และรู้สึกสนุกมาก ๆ ที่ได้อ่าน  อ.ธงชัย ท่านมีวาทศิลป์ สามารถเขียนให้ผู้อ่านอ่านได้อย่างมีอรรถรส บางประโยคใช้ภาษาได้นิ่มแต่แรงในเวลาเดียวกัน (อธิบายในที่นี้ไม่ถูกครับ ต้องอ่านเอง555)  การอ่านหนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดมุมมองให้ผมเห็นการเมืองการปกครองไทยในมุมใหม่ ๆ ขึ้นมากเลยครับ

         หนังสือของสำนักพิมพ์นี้ อาจจะดูหนาและวิชาการจ๋าสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ถ้าเพื่อน ๆ สนใจล่ะก็ อยากให้ลองอ่านกันดูครับ แล้วเราจะได้มุมมองใหม่ ๆ ที่มีฐานอยู่บนหลักวิชาการแน่นอนครับ

คำคมจากหนังสือ "รัฐราชาชาติ"


เราไม่โดนควบคุมบงการ
หรือเราโดนแบบไม่รู้ตัวไม่โฉ่งฉ่างอย่าง Big Brother?
หน้า 47 -

กุญแจสองประการ
เพื่อจะไขประตูสู่อนาคตของประเทศนี้
ได้แก่ เสรีภาพและความยุติธรรม
หน้า 227 -

เราเดินมาถึงปัจจุบันนี้ได้
ก็เพราะบรรพบุรุษของเราทุกรุ่นพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
หน้า 228 -

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】โชคชะตา

หนังสือ "โชคชะตา" (宿命)
ผู้เขียน : ฮิงาชิโนะ เคโงะ (東野圭吾)
วันที่อ่าน : 9 - 23 กันยายน 2565


         สนุกมาก ๆ ครับนิยายเล่มนี้ เป็นนิยายชีวิตปนแนวสืบสวนที่เล่าเรื่องได้อย่างแยบยล ทำให้ผู้อ่านอยากติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของตัวละครต่าง ๆ นั้นมีอะไรซ่อนอยู่  อะไรคือโชคชะตาที่คอยชักใยชีวิตของพวกเราเหล่านี้!

         นิยายเรื่องนี้ แม้จะไม่หนามาก แต่ก็ทำให้ผมผูกพันกับตัวละครได้มากพอควร  ทีมยูซากุนะครับ555  ไม่อยากสปอยล์มาก แนะนำว่าไปอ่านเองดีกว่านะครับผม!

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】Twilight

หนังสือ "Twilight"
ผู้เขียน : Stephenie Meyer
วันที่อ่าน : 16 สิงหาคม - 6 กันยายน 2565


        เชื่อว่าหลายคนคงทราบดีว่านวนิยายเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เพราะได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อสิบกว่าปีก่อน  ผมเองก็มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนั้น แต่นั่นก็ผ่านไปหลายปี จนผมลืมเรื่องราวไปเกือบหมด จำได้เพียงโครงเรื่องคร่าว ๆ เท่านั้น  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้ท่องเข้าไปในโลกของ Twilight อีกครั้ง  เป็นโลกชวนฝันที่ทำให้ผมเพลิดเพลินไม่น้อย  นับว่าโชคดีที่ผมไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้อีกรอบก่อนอ่านหนังสือ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงเดาเนื้อหาได้เกือบหมด

         ผมบอกได้เลยว่าชอบ Twilight ฉบับนวนิยายมากกว่าภาพยนตร์ เพราะในภาพยนตร์นั้นมีเวลาจำกัด ทำให้หลายฉากถูกรวบรัดจนพลาดรายละเอียดสำคัญ ๆ ไป และบทสนทนาสำคัญ ๆ ไม่น้อยก็ไม่ได้รับการกล่าวถึงในภาพยนตร์

         ใครที่กำลังหานิยายรักดี ๆ ที่มีความแฟนตาซีผสมอยู่อ่าน ผมแนะนำ Twilight เล่มนี้เลยครับ

คำคมจากหนังสือ "Twilight"


I like the night.
Without the dark, we'd never see the stars.
- Bella Swan, หน้า 158 -

That's the beautiful thing about being human, things change.
- Edward Cullen, หน้า 327 -

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】มารยาทในการรับประทานอาหารแบบตะวันตก

หนังสือ "มารยาทในการรับประทานอาหารแบบตะวันตก"
ผู้แปล : วันดี ม่านศรีสุข
วันที่อ่าน : 24 สิงหาคม - 1 กันยายน 2565


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือการ์ตูนที่สอนเรื่องมารยาทในการรับประทานอาหารแบบตะวันตก  อ่านเพลิน ๆ ไม่นานก็จบ แต่ได้ความรู้ไม่น้อยเลยครับ  หลายอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นความนิยมหรือขนบธรรมเนียม แท้จริงแล้วมันก็มีเหตุผลอยู่เบื้องหลังก็เป็นได้นะครับ  การเรียนรู้เรื่องมารยาทเหล่านี้ไว้ นอกจากทำให้เราดูเป็นคนรู้เรื่องรู้ราวแล้ว มันอาจทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นด้วยครับ  แม้หนังสือเล่มนี้จะเก่าไปหน่อย แต่ความรู้ที่ได้รับก็ยังนำมาใช้กับปัจจุบันได้ครับ

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง

หนังสือ "๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง"
วันที่อ่าน : 5 มิถุนายน - 13 สิงหาคม 2565

         หนังสือเล่มนี้จัดทำขึ้นมาในโอกาสครบรอบ 88 ปีประชาธิปไตยไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563  เป็นหนังสือที่รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงต่าง ๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร การเมืองไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

         ได้หนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ปี 63 มาอ่านอย่างจริงจังตอนปี 65  หลายท่านคงทราบดีว่าบริบทสังคมการเมืองไทยในช่วง 2 ปีให้หลังมานี้ ได้ปลุกความตื่นตัวและสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยไม่น้อย  ตัวผมเองก็สนใจการเมืองมากขึ้น เพราะสัมผัสได้ว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ และอยู่ในทุกอณูของชีวิต  หนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดมุมมองและทำให้ผมได้เห็นแนวคิดที่หลากหลาย  ทำให้ผมได้เห็นที่มาที่ไปและเข้าใจบริบทสังคมการเมืองไทยมากขึ้น  ผมจะเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการเมืองไทยในห้วงเวลานี้

คำคมจากหนังสือ "๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง"


ผมเชื่อเสมอว่าไม่มีฤดูหนาวที่ยาวนาน
วันหนึ่งฤดูใบไม้ผลิจะหวนกลับสู่สังคมไทย
แล้ววันนั้นเราจะได้เห็นประชาธิปไตยที่เติบโตอีกครั้ง
สุรชาติ บำรุงสุข, หน้า 30 -

ชีวิตคนเรา "สั้นแต่กระพริบตาเดียว"
สิ่งที่ทำได้ก็คือการสร้างฐานที่ดีให้คนรุ่นหลังต่อยอดไปให้ถึงเป้าหมาย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์, หน้า 40 -

ต้องมองถึงลูกหลาน
เพราะประชาธิปไตยมองถึงลูกหลาน
เผด็จการทำอะไรเพื่อตัวเองและพวก
ไม่ได้มองอนาคต
พุทธินาถ พหลพยุหเสนา, หน้า 74 -

ระบอบประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาล
ระบอบประชาธิปไตยมันต้องซึมเข้าไปในทุกส่วนของสังคม
จอน อึ๊งภากรณ์, หน้า 167 -

การหายไปของศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฎร
มันไม่ใช่การหายไปของอิฐหินปูนทรายธรรมดา
แต่มันเป็นการหายไปของความทรงจำที่บรรจุอยู่ในวัตถุเหล่านั้นด้วย
ชาตรี ประกิตนนทการ, หน้า 262 -

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】殺人の門 (ประตูฆาตกร)

หนังสือ『殺人の門』(ประตูฆาตกร)
ผู้เขียน : ฮิงาชิโนะ เคโงะ (東野圭吾)
วันที่อ่าน : 6 มิถุนายน - 10 สิงหาคม 2565


         ประตูฆาตกร บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง ตั้งแต่เด็กจนโต  เป็นชีวิตที่ผสมปนเปไปด้วยความเจ็บปวด ความผิดหวัง ความคับแค้น  การได้รู้จักตัวละครตัวนี้ตั้งแต่เด็ก ทำให้ผมรู้สึกผูกผันกับเขาอย่างมาก และคอยเป็นกำลังใจให้เขามีชีวิตที่ดีเสียที

         การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้เห็นมุมมองของชีวิต ได้เห็นความเป็นคนที่หลากหลาย และได้เข้าใจความคิดของคนมากขึ้น  หากใครกำลังหานิยายดี ๆ ที่อ่านเพลิน ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบแล้วล่ะก็ ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】1 ปี กับชีวิตที่ผมอยู่ในอเมริกา : Season 2 : Coming Home

หนังสือ "1 ปี กับชีวิตที่ผมอยู่ในอเมริกา : Season 2 : Coming Home"
ผู้เขียน : ชี้ดาบ
วันที่อ่าน : 30 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2565


         อ่านเล่มหนึ่งจบแล้ว... จะอ่านเล่ม 2 ดีมั้ย?  นี่คือคำถามที่ผมถามตัวเอง ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้  สุดท้าย ผมก็ตัดสินใจอ่านมัน  ก็เรื่องมันค้างคาอยู่นี่! ไม่อ่านได้ไง!

         ผลปรากฏว่า... เป็นการตัดสินใจที่ถูกอย่างยิ่ง เพราะเล่ม 2 นี้ช่วยเติมเต็มเรื่องที่ค้างคาอยู่ในเล่ม 1 ได้อย่างลงตัว  ผมได้ข้อคิดและได้เห็นโลกกว้างมากมายจากหนังสือสองเล่มนี้  อีกทั้งยัง (เสมือน) ได้รับประสบการณ์อันมีค่ายิ่งของผู้เขียน  ที่ผู้อ่านอย่างเรารับรู้ได้โดยไม่ต้องไปแลกเปลี่ยนด้วยตัวเอง

คำคมจากหนังสือ "1 ปี กับชีวิตที่ผมอยู่ในอเมริกา : Season 2 : Coming Home"


การกลับมานั่งคิด
ทำให้ผมพบว่าหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในชีวิต
คือการที่ผมชอบเอาชีวิต ไปยึดติดกับคนอื่น
- หน้า 81 -

เราคงไม่โต
หากชีวิตไม่เคยผ่านความยากอะไร
- หน้า 88 -

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】1 ปี กับชีวิตที่ผมอยู่ในอเมริกา : Season 1 : Home Coming

หนังสือ "1 ปี กับชีวิตที่ผมอยู่ในอเมริกา : Season 1 : Home Coming"
ผู้เขียน : ชี้ดาบ
วันที่อ่าน : 24 - 29 กรกฎาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกาของผู้เขียน ที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ ด้วยสำนวนการเขียนแบบตรง ๆ ไม่มีบรรณาธิการตรวจ (อันนี้ผมเดาเอาเองนะครับ ของจริงอาจจะมี)  ทำให้ความรู้สึกของผมตอนอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนฟังเพื่อน (หรือพี่) เล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองให้ฟัง

         เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ไม่ใช่แค่ได้อ่านเรื่องราวสนุก ๆ ของผู้เขียนเท่านั้น แต่ผมยังได้ความรู้และได้เปิดโลก (ว่าแบบนี้ก็มีด้วย!)  ทำให้คนที่ไม่เคยไปอเมริกาอย่างผม ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศยักษ์ใหญ่นี้ขึ้นมากเลย

         แต่เรื่องราวของผู้เขียนยังไม่จบแค่นี้ ผมคงต้องอ่านเล่ม 2 ต่อนะครับ...

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง

หนังสือ "เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง"
ผู้เขียน : ฮิมิโตะ ณ เกียวโต และณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล
วันที่อ่าน : 8 - 10 มิถุนายน 2565


         หนังสือ "เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง" เป็นหนังสือแบบทูอินวัน คือมีทั้ง "เกียวโตที่รัก" และ "โตเกียวที่คิดถึง" อยู่ในเล่มเดียวกัน  ทั้งสองเรื่อง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน เพียงแต่เล่าเรื่องคนละเมือง และเล่าโดยผู้เขียนคนละคน
         ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเพลิน ๆ ไม่นานก็จบ  แม้ว่าตัวผมเองจะเคยไปเยือนทั้งสองเมืองดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เขียนทั้งสองท่านก็ทำให้ผมได้เห็นในบางมุมมองที่ไม่เคยสังเกตเห็น  ผมเชื่อว่าครั้งต่อไปที่ผมไปเยือนสองเมืองนี้ มุมมองของผม (และที่ที่ผมอยากไป) ก็อาจจะได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้ไม่น้อย

คำคมจากหนังสือ "เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง"


"เมือง"
เกิดจากมนุษย์
อยู่ได้ด้วยมนุษย์
และจะดีขึ้นเมื่อเราสำนึกตระหนักในคุณค่าของมนุษย์
- เกียวโตที่รัก, หน้า 37 -

การชงชา
คือการทำให้เรามีสติกำกับอยู่ทุกขณะจิตของการขยับร่างกาย
- เกียวโตที่รัก, หน้า 80 -

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส

หนังสือ "ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส"
ผู้เขียน : ปิยบุตร แสงกนกกุล
วันที่อ่าน : 11 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2565


         ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส เล่มนี้ เป็นผลงานชิ้นใหม่ของ อ.ปิยบุตร ที่บอกเล่าเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสในหลายมิติ  ทำให้ตัวผมที่มีความรู้ในเรื่องนี้เพียงผิวเผินได้เข้าใจเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมากทีเดียว  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันของผู้คนในสมัยนั้น ซึ่งก็ทำให้อึ้งเลยทีเดียวว่าคนฝรั่งเศสในสมัยนั้นได้ถกเถียงเรื่องราวเหล่านี้กันแล้วหรือ  นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังให้แง่คิดที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการมองภาพเหตุการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันได้เช่นกัน

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】超訳 日本国憲法

หนังสือ『超訳 日本国憲法』
ผู้เขียน : 池上彰 (อิเกงามิ อากิระ)
วันที่อ่าน : 16 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2565


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออธิบายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นจนจบอย่างเข้าใจง่าย พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์บ้านเมือง หรือข้อถกเถียงในสังคมประกอบ  ทำให้ผู้อ่านที่ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้อย่างผมสามารถอ่านได้ง่ายและได้ความรู้เกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่นอย่างมาก  ผมชอบที่ผู้เขียนยกตัวอย่างข่าวสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรานั้น ๆ ทำให้ผมเข้าใจตัวบทกฎหมายได้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องอ่านแต่ตัวบทอย่างเดียวครับ
         ใครอยากเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมากขึ้น ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ  ภาษาญี่ปุ่นในเล่มนี้ไม่ค่อยยากมากครับ อ่านสบาย ๆ เลย

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】บินแหลก เล่ม 1

หนังสือ "บินแหลก เล่ม 1"
ผู้เขียน : อีแร้ง
วันที่อ่าน : 28 มีนาคม - 15 พฤษภาคม 2565


         ด้วยความที่ชื่นชอบเรื่องราวบนเครื่องบิน ผมเลยได้มาอ่านหนังสือแนวนี้อีกแล้วครับ555  บินแหลก เล่มนี้ เป็นหนังสือรวมเรื่องราวชีวิตสจ๊วตบนเครื่องบินของผู้เขียน  มีเรื่องราวหลากหลายให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลิน  บางเรื่องก็ตลก บางเรื่องก็ทำให้เราทึ่ง  แม้หนังสือเล่มนี้จะเขียนมากว่าสามสิบปีแล้ว แต่อรรถรสในการอ่านก็ไม่ได้จืดจางแต่อย่างใด ยังคงสดใหม่เหมือนเกิดขึ้นเมื่อวานเลยทีเดียว

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】โด เร มี มณีนุช

หนังสือ "โด เร มี มณีนุช"
ผู้เขียน : มณีนุช เสมรสุต
วันที่อ่าน : 12 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักครูอ้วน มณีนุช (ผู้เขียน) มากขึ้น ได้อ่านเรื่องราวตั้งแต่ตอนครูอ้วนประกวดร้องเพลง ได้รู้เกี่ยวกับชีวิตการเป็นครูสอนร้องเพลงของครูอ้วน และได้ความรู้เกี่ยวกับเสียงเพลงมากขึ้น  แม้หนังสือเล่มนี้จะเก่ามากแล้ว แต่เรื่องราวที่ครูอ้วนถ่ายทอดไว้ยังคงทันสมัยและใช้ได้เสมอ

คำคมจากหนังสือ "โด เร มี มณีนุช"


ครูต้องเป็นผู้ทันและนำสมัย
- หน้า 136 -

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】สิ่งมีชีวิตในโรงแรม เล่ม 2

หนังสือ "สิ่งมีชีวิตในโรงแรม เล่ม 2"
ผู้เขียน : วิชัย
วันที่อ่าน : 9 - 11 พฤษภาคม 2565


         ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับคนทำงานโรงแรมเล่มแรกที่ผมได้อ่าน  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รับความรู้และเปิดโลกเกี่ยวกับคนโรงแรมมากมาย  เป็นหนังสือที่อ่านสนุก อ่านเพลินแป๊บเดียวจบ  ผู้เขียนเป็นคนมีอารมณ์ขัน สอดแทรกมุกตลกได้ตลอดเวลา  ผมเองชอบนักเขียนที่เป็นคนตลกอยู่แล้ว จึงอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างมีความสุข  อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีศัพท์เฉพาะตัวเยอะมาก เช่น แช่แฟ้บ ลากกล้วย ซึ่งผมไม่เข้าใจครับ55555  มันแปลว่าอะไรหรอครับ?

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】70 ภาษากายสไตล์ญี่ปุ่น

หนังสือ "70 ภาษากายสไตล์ญี่ปุ่น"
ผู้เขียน : ฮามิรุ อากี
ผู้แปล : ตวงทิพย์ ตันชะโล
วันที่อ่าน : 4 พฤษภาคม 2565 (วันเดียวจบ)


         หนังสือเล่มนี้ อธิบายเกี่ยวกับภาษากายที่ชาวญี่ปุ่นใช้ มีตัวอย่างภาษากายให้ผู้อ่านได้เรียนรู้หลากหลายเลยทีเดียว บางภาษากายก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว แต่บางภาษากายก็เป็นเรื่องแปลกใหม่ ที่ทำให้ผมได้ว้าวอย่างตื่นเต้น  เมื่อนำความรู้ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ไปประกอบกับสิ่งที่เห็นในละครโทรทัศน์ (ドラマ) ของประเทศญี่ปุ่นก็ทำให้ผมเข้าใจวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นมากขึ้นเลยทีเดียวครับ

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】คิดอย่างทักษิณ ชินวัตร : Leader of Asia

หนังสือ "คิดอย่างทักษิณ ชินวัตร : Leader of Asia"
ผู้รวบรวมและเรียบเรียง : พิจิตรา
วันที่อ่าน : 28 มกราคม - 26 เมษายน 2565


         แม้หนังสือเล่มนี้จะเก่ามากแล้ว แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้เห็นแนวคิดและมุมมองของท่านอดีตนายกทักษิณ  หลายแนวคิดทำให้ผมรู้สึกประทับใจและเห็นพ้องด้วย  บางครั้งผมถึงกับฉุกคิดว่า นายกของประเทศไทยสามารถมีแนวคิดดี ๆ ขนาดนี้ได้เลยหรือ จนลืมไปว่ามันเป็นเรื่องปกติของคนเป็นผู้นำประเทศอยู่แล้ว  ผู้นำที่ไม่มีความสามารถเท่านี้ต่างหากที่ผิดวิสัยของการเป็นผู้นำประเทศ
         อ่านไปก็รู้สึก nostalgia หวนหาอดีตไป มโนไปไกลว่าถ้านายกทักษิณได้บริหารประเทศนานกว่านี้ ประเทศจะเป็นอย่างไร แต่คิดไปก็ไลฟ์บอย555 อยู่กับปัจจุบันและทำมันให้ดีดีกว่า  ยังมีความหวังอยู่เสมอว่าประเทศจะดีขึ้นกว่านี้ได้ครับ :)

คำคมจากหนังสือ "คิดอย่างทักษิณ ชินวัตร : Leader of Asia"


พ.ต.ท.ดร.ทักษิณไม่เชื่อว่าการก่อเจดีย์จะเริ่มจากยอดไปฐาน
แต่หากต้องก่อจากฐานไปยอดซึ่งมั่นคงกว่า
- หน้า 27 -

การทำสิ่งใดก็ตามด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ด้วยปัญญา ด้วยเมตตาและขันติ
ย่อมนำสิ่งดีงามมาสู่ชีวิตเสมอ
- หน้า 29 -

เรายืนบนโต๊ะ
ถ้ายกพื้นให้สูงขึ้น
คนที่ยืนก็สูงขึ้นตามหมด
- หน้า 42 -

การบริหารการเมืองคือ
ทำอย่างไรให้คนไม่พอใจน้อยที่สุด
ซึ่งต่างจากบริหารทั่วไป
ที่บริหารอย่างไรให้คนพอใจมากที่สุด
- หน้า 152 -

คนที่ทำงานแล้วสนุกกับงานคือคนที่ก้าวหน้า
เพราะไม่ได้ถือว่างานเป็นภาระ
แต่ถือว่างานเป็นสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันที่เราจะต้องทำ
- หน้า 178 -

คนสำเร็จปริญญาเอกไม่อ่านหนังสือใหม่ ๆ บ้าง
ก็อาจจะไม่รู้เท่าคนจบปริญญาตรีแต่ชอบอ่านหนังสือ
- หน้า 180 -

ผู้ที่เตรียมตัวไว้พร้อมสรรพดีแล้วเท่านั้น
จึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากโอกาสต่าง ๆ ที่เปิดกว้าง
- หน้า 250 -

ถ้าเรานำเศรษฐกิจนอกระบบ
ขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจในระบบได้ครึ่งหนึ่ง
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะดีกว่านี้มาก
ระบบมาเฟียก็จะหายไป
- หน้า 276 -

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】ลงทุนแบบ เบน เกรแฮม

หนังสือ "ลงทุนแบบ เบน เกรแฮม"
ผู้เขียน : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วันที่อ่าน : 12 - 25 เมษายน 2565


         "ลงทุนแบบ เบน เกรแฮม" เป็นผลงานอีกเล่มหนึ่งของ ดร. นิเวศน์ ที่ผมได้อ่าน  หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนมากมาย ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่การลงทุนแบบ เบน เกรแฮม ตามชื่อเรื่อง  ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องของการลงทุนในประเทศเวียดนาม เรื่องตลาดหุ้นสหรัฐ เรื่องการใช้ชีวิตของวอร์เรน บัฟเฟตต์  ทำให้ผู้อ่านอย่างเราได้รับความรู้เรื่องการลงทุนหลาย ๆ เรื่อง โดยที่ไม่หนักและไม่วิชาการจนเกินไปครับ

คำคมจากหนังสือ "ลงทุนแบบ เบน เกรแฮม"


การลงทุนแบบที่รู้สึกว่า "น่าเบื่อ" นั้น
ดีกว่าการลงทุนที่รู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลา
- หน้า 80 -

สิ่งสำคัญของการลงทุนก็คือ
สิ่งที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูด
นั่นคือ "อย่าขาดทุน"
- หน้า 92 -

การรวยช้าลงบ้างแต่มีความสุขนั้น
ผมคิดว่าดีกว่า
และถ้ามันทำให้เราอายุยืนขึ้น
วันหนึ่งเราก็อาจจะรวยเท่ากันอยู่ดี
- หน้า 105 -

อย่าลงทุนเพื่อทำมาหากิน
ลงทุนเพื่อวันเกษียณ
หรือลงทุนเพื่อเป็นมรดก
และนั่นจะทำให้การลงทุนและชีวิตประสบความสำเร็จ
- หน้า 124 -

ถ้าเราไม่แน่จริง
อย่าเล่นหรือลงทุนในหุ้นตัวเล็ก
โดยเฉพาะที่เขาคุยว่าจะโตเร็ว
- หน้า 219 -

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】ลงทุนแบบป้าแอนน์

หนังสือ "ลงทุนแบบป้าแอนน์"
ผู้เขียน : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วันที่อ่าน : 28 มีนาคม - 11 เมษายน 2565


         หนังสือ "ลงทุนแบบป้าแอนน์" เล่มนี้มีเนื้อหาที่หลากหลาย เหมือนรวบรวมบทความต่าง ๆ ของผู้เขียน ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ "ป้าแอนน์" ตามชื่อเรื่อง เรื่องของตลาดหุ้นเวียดนาม เรื่องของหุ้นกู้ หรือเรื่องของวอร์เรน บัฟเฟตต์  บอกตามตรงว่า ตอนแรกผมนึกว่าหนังสือเล่มนี้จะเกี่ยวกับ "ป้าแอนน์" อย่างเดียว แล้วก็เข้าใจผิดว่าคือป้าแอนน์เจ้าของร้านขนมอานตี้ แอนส์  ผลปรากฏว่าคนละป้าแอนน์กัน แต่ป้าแอนน์คนนี้กลับทำให้ผมสนใจอย่างมาก เลยสนุกที่ได้อ่านเรื่องราวของป้าแอนน์มาก ๆ เลยครับ

คำคมจากหนังสือ "ลงทุนแบบป้าแอนน์"


คนที่เทรดหุ้นมากที่สุดนั้น มักทำผลตอบแทนได้แย่ที่สุด
- หน้า 15 -

ในเกมของการลงทุนนั้น คนรอไม่ได้ก็คือ "ผู้แพ้"
- หน้า 41 -

ในทุก ๆ กลยุทธ์ และทุก ๆ สถานการณ์นั้น
เราต้องวิเคราะห์ว่า พื้นฐานของตลาด
และตัวหุ้นแต่ละตัวที่เราเกี่ยวข้องนั้นเป็นอย่างไร
- หน้า 97 -

ผมเองไม่แน่ใจว่าคนใช้โรบอตจะได้กำไรจริง ๆ หรือไม่
แต่ก็มั่นใจว่าโบรกเกอร์จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
- หน้า 172 -

ถ้าจะลงทุนซื้อหุ้นกู้ ก็จงทำเหมือนกับการลงทุนในหุ้น
\อย่าเชื่อนักวิเคราะห์หรือนักจัดอันดับ ให้เชื่อตนเอง
- หน้า 214 -

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】ナミヤ雑貨店の奇蹟 (ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ)

หนังสือ "ナミヤ雑貨店の奇蹟" (ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ)
ผู้เขียน : 東野圭吾 (ฮิงาชิโนะ เคโงะ)
วันที่อ่าน : 21 มีนาคม - 10 เมษายน 2565


         หนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานของฮิงาชิโนะ เคโงะ ที่ผมได้อ่าน บอกเลยว่าผู้เขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ได้อย่างมีชั้นเชิง ตัวละครในเรื่องและเหตุการณ์ต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันแบบที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง  แม้จะดูดำเนินเรื่องแบบไปเรื่อย ๆ ไม่หวือหวามาก แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิดที่ทำให้เราอิ่มใจ  ในส่วนของเนื้อหา แม้จะมีความแฟนตาซีบ้าง แต่การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ก็อิงอยู่กับชีวิตคน ซึ่งเป็นชีวิตของคนทั่ว ๆ ไปที่เราพบได้ไม่ว่าในที่ไหน ๆ ทำให้เราเข้าใจประเด็นปัญหาของตัวละครต่าง ๆ ได้ไม่ยาก และสามารถนำข้อคิดที่แฝงไว้มาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อีกด้วย

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】Call me OPPA

หนังสือ "Call me OPPA"
ผู้เขียน : ปรุงโอปป้า
วันที่อ่าน : 28 - 30 มีนาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักวัฒนธรรมการทำงานของคนเกาหลีอย่างละเอียดเลยทีเดียว  นอกจากเรื่องการทำงานแล้วผู้เขียนยังบอกเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับคนเกาหลีในสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้ผมเข้าใจสภาพสังคมและวิถีชีวิตของคนเกาหลีมากขึ้น และเห็นถึงข้อดีและข้อเสียซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ

หนังสือ "LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ"
ผู้เขียน : ไลลา ศรียานนท์
วันที่อ่าน : 25 - 27 มีนาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สนุกมาก ๆ  ชอบหนังสือแบบนี้ที่สุดเลยยยย555  ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตส ตั้งแต่ขั้นตอนการสอบเข้า จนถึงการทำงานจริงเลยทีเดียว  เรียกได้ว่า อ่านจบปุ๊บ ผมรู้เรื่องเกี่ยวกับวงการนี้ขึ้นเยอะเลยครับ!  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเล่าเรื่องได้สนุก ฮา น่าติดตามจนวางไม่ลงเลย  อ่านแป๊บเดียวก็จบเล่มแล้วอ่าครับ คิดดูสิ  ผมเชื่อว่าคนเราไม่สามารถประกอบอาชีพทุกอาชีพได้หมด แต่การอ่านหนังสือ ก็จะทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ ได้เนอะ :)

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】Blue chip kids สอนลูกเป็นนักลงทุน

หนังสือ "Blue chip kids สอนลูกเป็นนักลงทุน"
ผู้เขียน : David W. Bianchi
ผู้แปล : ชัชวนันท์ สันธิเดช
วันที่อ่าน : 25 - 26 มีนาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเหมือนพ่อสอนลูก เพราะในตอนแรกผู้เขียนตั้งใจจะเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ลูกอ่านอย่างเดียว แต่เขียนไปเขียนมาคงเพลิน เลยออกมาเป็นหนังสือให้พวกเราได้อ่านด้วยครับ  ด้วยความที่เล่าเรื่องเหมือนเล่าให้ลูกฟังนี้ เลยทำให้สามารถอธิบายเรื่องการเงินการลงทุนได้เข้าใจง่าย ๆ มาก  ผู้เขียนสอนเรื่องการเงินการลงทุนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานจนถึงเรื่องแอ็ดวานซ์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้  ทำให้ผมเข้าใจอะไร ๆ ในโลกการเงินได้มากขึ้นเลยครับ  ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากยังอยากเข้าใจโลกการเงินให้มากขึ้นแล้วล่ะก็ ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

หนังสือ "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" (The Miracle of Being Wake)
ผู้เขียน : ติช นัท ฮันห์ (Thích Nhất Hạnh)
วันที่อ่าน : 20 - 24 มีนาคม 2565


         นี่เป็นหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ เล่มแรกที่ผมอ่าน  หนังสือเล่มนี้มอบแง่คิดให้ผมมากมาย ทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่กับปัจจุบัน และตระหนักว่าการอยู่กับปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ  มันง่ายนิดเดียว! แต่มีประโยชน์ต่อชีวิตเรามหาศาลเลยครับ

คำคมจากหนังสือ "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ"


ขณะล้างจาน
เราก็ควรจะล้างจานอย่างเดียว
- หน้า 10 -

ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน
เวลามอง คุณก็จะไม่เห็น
ฟังแต่จะไม่ได้ยิน
กินแต่จะไม่ได้ลิ้มรส
- หน้า 16 -

เราต้องกล้ามองความตาย
รู้เท่าทันและยอมรับมัน
เหมือนเรามองและยอมรับการมีชีวิต
- หน้า 76 -

งานคือชีวิต
ก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น
- หน้า 87 -

【รีวิว】ราชาสถาน นิทานตื่นนอน

หนังสือ "ราชาสถาน นิทานตื่นนอน"
ผู้เขียน : ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข
วันที่อ่าน : 23 - 24 มีนาคม 2565


         ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือท่องเที่ยวมาก แต่ไม่ได้ชอบหนังสือที่เขียนเหมือนไกด์บุ๊ก  ผมชอบหนังสือแบบที่เล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แบบหนังสือเล่มนี้  ผู้เขียนได้พาผมไปตามรอยท่องเที่ยวยังเมืองต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย  นอกจากภาพประกอบที่สวยมาก ๆ แล้ว ผู้เขียนยังบอกเล่าเรื่องราวได้สนุกสนาน มีมุกตลกเป็นระยะ และน่าติดตามอย่างยิ่ง ทำให้ผมอ่านหนังสือเล่มนี้สองวันจบ  หนังสือเล่มนี้เปิดโลกทัศน์ที่ผมมีต่อประเทศอินเดียอย่างมาก ทำให้เห็นมุมสวย ๆ (สวยจนว้าว) ของประเทศนี้มากขึ้น  ได้รู้จักสถานที่ใหม่ ๆ โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยไปสัมผัสกลิ่นและเสียงด้วยตนเอง555 นอนสบาย ๆ อยู่บ้าน (ดูเอาเปรียบผู้เขียนมาก แต่ยังไงมันก็ไม่เหมือนได้ไปจริง ๆ หรอกเนอะครับ)  เพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจอะไรอินเดีย ๆ ก็ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูนะครับ แล้วจะได้สัมผัสความเป็นอินเดียมากขึ้น เผลอ ๆ อาจจะอยากไปสัมผัสเองโดยไม่รู้ตัว!

คำคมจากหนังสือ "ราชาสถาน นิทานตื่นนอน"


สำหรับผมในการเดินทางนั้น
มันเป็นเหมือนการสลายอัตตาในตัวเองแบบหนึ่ง
- หน้า 344 -

ออกเดินทางครั้งหน้า
นอกจากสัมภาระส่วนตัวแล้ว
ก็อย่าลืมพกตัวกู-ของกูลงกระเป๋าไปสลายมันทิ้งด้วยนะครับ :)
- หน้า 345 -

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】Dubai Diary ดูอะไรที่ดูไบ

หนังสือ "Dubai Diary ดูอะไรที่ดูไบ"
ผู้เขียน : อัลฮูดา ชนิดพัฒนา
วันที่อ่าน : 18 - 20 มีนาคม 2565


         ดูไบ เป็นเมืองที่ผมรู้จักมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปเสียที  การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนทำให้ผมได้ไปดูไบมาแล้วรอบหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องขึ้นเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ!
         ผู้เขียนพาเราไปรู้จักดูไบ (และอาบูดาบี) ในมุมมองที่หลากหลาย  ทั้งในมุมมองยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่รู้จัก และในมุมมองแปลกใหม่ที่ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจมาก ๆ และเริ่มรู้สึกอยากจะไปเยือนดินแดนทะเลทรายแห่งนี้สักครั้ง

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】บันเทิงเชิงร้าย

หนังสือ "บันเทิงเชิงร้าย"
ผู้เขียน : อินทิรา เจริญปุระ
วันที่อ่าน : 15 - 16 มีนาคม 2565


         ผมเองเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ เพราะทำให้เราได้รู้เรื่องราววงในของอาชีพนั้น ๆ  อาชีพนักแสดงเองก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ผมยังไม่เคยเข้าไปคลุกคลีเท่าไหร่นัก  การได้อ่านหนังสือ "บันเทิงเริงร้าย" เล่มนี้ทำให้ผมได้เพลิดเพลิน ได้ความรู้ และได้ประสบการณ์อย่างมาก (ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยแสดงหนังเลยสักเรื่อง!)  ผู้เขียนเล่าเรื่องได้อย่างสนุก น่าติดตาม แฝงข้อความจิกกัดให้เราได้ขบขันในใจอยู่เสมอ  ใครที่อยากรู้เรื่องราวในวงการ "คนกองฯ" มากขึ้น ก็ลองอ่านดูนะครับ

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้

หนังสือ "ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 28 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2565


         หนังสือ "ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้" เล่มนี้ เป็นหนังสือธรรมะที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย  หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า 2 สิ่งนี้จะมาอยู่ร่วมกันได้ แต่หากเพื่อน ๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จะพบว่า 2 สิ่งนี้สามารถสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน  ผมรู้สึกประทับใจในความสามารถของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่สามารถจับ 2 สิ่งนี้มาร้อยเรียงกันได้อย่างลงตัว
         นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังทำให้ผมหันกลับมามองสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน  ผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกคนมีคุณสมบัติของธรรมาธิปไตย ประเทศไทยคงมีประชาธิปไตยที่เป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

คำคมจากหนังสือ "ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้"


การเสียชีวิตของท่านเหล่านั้นจะไม่เป็นของว่างเปล่าไร้ค่า
ก็ต่อเมื่อคนที่อยู่ข้างหลังผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่
ได้สืบต่อสิ่งดีงามที่จะทำให้ประชาธิปไตยได้รับการสร้างสรรค์และส่งเสริมสืบต่อไป
- หน้า 9 -

ประชาธิปไตยนั้น
เป็นการปกครองกันด้วยปัญญา
ของคนที่มีจิตใจเป็นเสรี
- หน้า 44 -

ในสังคมประชาธิปไตยนั้น
คนจะยอมตัวและยอมกันได้เพื่อเห็นแก่ธรรม
เพราะเขายอมรับนับถือธรรมนั้น
ให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตัวตนของเขา
ทุกคนถือธรรมเป็นใหญ่และยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม
- หน้า 50 -

นักการเมืองที่จะทันกับยุคต่อไปนี้
นอกจากจะต้องมองการณ์ไกล
เป็นผู้ข้ามขีดขั้นของกาลเวลาไปได้แล้ว
จะต้องเป็นนักการเมืองที่มีความเป็นสากล
คือก้าวข้ามขีดขั้นของเทศะ
ไปสู่การแก้ปัญหาของมวลมนุษยชาติทั่วโลก
คือปัญหาสากลที่มีเสมอเหมือนกันทั่วโลกแห่งความขาดภราดรภาพนี้
- หน้า 76 -

ความรักและไมตรีอย่างจริงใจนี้
ทำให้สัมพันธ์คบหากันโดยไม่มีอุบายซ่อนเร้นต่อกัน
ไม่มีลักษณะที่เรียกว่า
แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง
แต่เป็นแบบที่ว่า
ยอมรับจุดต่าง อยู่กันบนฐานของจุดร่วม
- หน้า 82 -

คนที่มีเสรีภาพที่แท้จริง
ก็คือคนที่มีจิตใจเป็นอิสระ
ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส
- หน้า 89 -

ทุกคนนั้น
ในจิตใจต้องมีเจตนาที่ประกอบด้วยเมตตา
และต้องใข้ต้องพัฒนาปัญญาอยู่เรื่อยไป
- หน้า 93 -

เรื่องของประชาธิปไตยนั้น
ในที่สุดก็หนีธรรมะไปไม่พ้น
ต้องมีธรรมและเอาธรรมไปใช้ปฏิบัติ
โดยเฉพาะรู้จักเลือกจับธรรมะให้ตรงกับเรื่องราว
- หน้า 97 -

พอถึงตอนเลือกตั้ง
แค่ราษฎรตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตยเท่านั้นแหละ
แผ่นดินก็พลิกเลย
- หน้า 117 -

ไม่ว่าในการปกครองรูปแบบไหนก็ตาม
คุณสมบัติที่ต้องการของมนุษย์ก็คือ
ธรรมาธิปไตย
- หน้า 162 -

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

【รีวิว】นิติศาสตร์แนวพุทธ

หนังสือ "นิติศาสตร์แนวพุทธ"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 23 - 27 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือ "นิติศาสตร์แนวพุทธ" เล่มนี้ มีประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังศึกษาวิชานิติศาสตร์แบบผมอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผมรู้จักหลักการของนิติศาสตร์และนิติบัญญัติในแนวทางพระพุทธศาสนา  ทำให้ผมรู้ว่าการเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้น ควรจะมีแนวคิดอย่างไร ควรจะสร้างสรรค์กฎหมายแบบใดออกมา  หากผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายได้อ่านหนังสือเล่มนี้และนำไปปฏิบัติ กฎหมายไทยคงจะดีขึ้นมากเลย

คำคมจากหนังสือ "นิติศาสตร์แนวพุทธ"


การปกครองที่ดีมุ่งเพื่อประโยชน์ของประชาชน
การตั้งกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน
- หน้า 14 -

ธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา
พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด
มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น
- หน้า 25 -

กฎหมายไม่ได้มีขึ้น
เพียงเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีเท่านั้น
แต่สร้างสภาพเอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาความสามารถ
ที่จะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย
- หน้า 80 -

สามัคคีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตหมู่
หรือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย
- หน้า 87 -

ถ้าสมมติไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม
หรือไม่เป็นไปตามธรรม
ก็จะทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน
ไม่สามารถร่วมจิตร่วมใจกัน
และยอมรับสมมตินั้นไม่ได้
แล้วความขัดแย้งแตกสามัคคีก็จะเกิดขึ้น
- หน้า 88 -

การปกครองที่ดี
คือการปกครองโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ
และกฎหมายที่ดี
คือบัญญัติที่เป็นข้อหมายรู้ในการที่จะเป็นอยู่และทำกิจในการมีชีวิตร่วมกัน
- หน้า 102 -

สังคมมนุษย์นั้น
มนุษย์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์
มิฉะนั้นก็จะพินาศ
- หน้า 103 -

การที่จะเอากฎหมายเป็นเกณฑ์
ก็จะต้องคอยตรวจสอบกฎหมายตลอดเวลาด้วย
โดยเฉพาะต้องดูว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริง
ของกฎธรรมชาติคือตัวธรรมหรือเปล่า
- หน้า 111 -

ความสำเร็จของมนุษย์
ตามความหมายแห่งกฎแท้ของธรรมชาติ
คือการทำให้ชีวิตดีงามมีความสุข
สังคมสันติ และโลกเป็นแดนเกษม
- หน้า 129 -

กฎหมายที่ออกมา
เป็นต้วฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของนักกฎหมาย
หรือของผู้ทำงานนิติบัญญัติ
- หน้า 133 -

ผู้บัญญัติกฎหมายก็ตาม
ผู้ใช้กฎหมายก็ตาม
จึงต้องไม่ประมาท
จะต้องศึกษาพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา
เพื่อให้มีปัญญายิ่งขึ้น
และมีเจตนาดียิ่งขึ้น
- หน้า 136 -

การศึกษาด้านนิติศาสตร์...
เป็นการศึกษา เพื่อสื่อสัจธรรมในธรรมชาติ
สู่อารยธรรมของมนุษย์ชาติทั้งหมด
และเพื่อรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติให้ดำรงอยู่
ในดุลยภาพแห่งสัจธรรมของธรรมชาติ
ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างดีที่สุด
- หน้า 137 -

【รีวิว】นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)

หนังสือ "นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"
ผู้เขียน : โอม รัชเวทย์
วันที่อ่าน : 21 - 22 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือ "นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)" เล่มนี้ บอกเล่าชีวประวัติของนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี อุบาสกอุบาสิกาคนสำคัญในพระพุทธศาสนา  การเรียนรู้ชีวประวัติของท่านทั้งสอง ทำให้เราได้เห็นถึงพลังแห่งความศรัทธา ที่คน ๆ หนึ่งสามารถอุทิศแด่พระพุทธศาสนาได้  เมื่อได้มองท่านทั้งสองแล้วก็ได้ย้อนมามองตัวเรา ว่าเราได้ทำอะไรเพื่อศาสนานี้บ้างแล้วหรือยัง

คำคมจากหนังสือ "นางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"


เธอนั้นนำความสุขความสำเร็จของเธอเองไปผูกติดกับผู้อื่น
สิ่งทั้งปวงที่ตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น
- พระพุทธเจ้า, หน้า 38 -

คำสอนของพระองค์ไพเราะแจ่มแจ้ง
เหมือนหงายของที่คว่ำให้เปิดออก
บอกทางแก่คนหลงทาง
ส่องไฟในที่มืดให้สว่าง
- อนาถบัณฑิกเศรษฐี, หน้า 69 -

【รีวิว】พระสังกัจจายน์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)

หนังสือ "พระสังกัจจายน์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"
ผู้เขียน : โอม รัชเวทย์
วันที่อ่าน : 23 กุมภาพันธ์ 2565 (วันเดียวจบ)


         หนังสือ "พระสังกัจจายน์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)" เล่มนี้ ทำให้รู้จักประวัติพระสังกัจจายน์อย่างถูกต้องมากขึ้น ทำให้รู้เลยว่าคนส่วนใหญ่ (รวมถึงตัวผม) ยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับพระสังกัจจายน์ โดยเอาไปปะปนกับเมตไตรยของจีนที่มีรูปร่างอ้วนเหมือนกัน  นอกจากได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว การอ่านชีวประวัติของท่านยังทำให้ได้เห็นหลักธรรม คือการไม่ยึดมั่นในรูปลักษณ์ภายนอกของตัวท่านด้วย

【รีวิว】พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)

หนังสือ "พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)"
ผู้เขียน : ชัยณรงค์ วิริยานนท์, รวิ ลิ้มวิวัฒน์
วันที่อ่าน : 18 กุมภาพันธ์ 2565 (วันเดียวจบ)


         หนังสือ "พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)" เล่มนี้ ทำให้ผมได้ทราบชีวประวัติ แนวคิด และแรงบันดาลใจในการอุปสมบทของท่านพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก  ในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็กำลังเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดญาณเวศกวันพอดี  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมีพลังและความปลื้มปีติในการบวชมากขึ้นอีก
         แม้ว่าปัจจุบันพระอาจารย์จะได้ลาสิกขาแล้ว แต่ผมเชื่อว่าคุณความดีที่พระอาจารย์ได้ทำได้ จะอยู่คู่โลกใบนี้ต่อไปไม่เสื่อมคลายครับ

คำคมจากหนังสือ "พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (ฉบับการ์ตูน)"


เมื่อขาดสติ
ใจก็กลายเป็นใจที่ไม่ดี
อยู่ที่ไหนก็มีแต่ทุกข์...
- เจ้าชายสิทธัตถะ, หน้า 26 -

【รีวิว】ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา

หนังสือ "ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 16 - 17 กุมภาพันธ์ 2565



         หนังสือ "ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา" เล่มนี้ เป็นบทบรรยายการเทศนาที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้แสดงเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ณ โรงเรียนปัญญาประทีป  เรียกได้ว่าเป็นการเทศนาที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี  หลวงพ่อสมเด็จได้แนะนำหลัก "ปฏิสัมภิทา ๔" หรือ "ปัญญาแตกฉาน" ที่เยาวชนสามารถนำไปใช้กับข้อมูลข่าวสารได้

คำคมจากหนังสือ "ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา"


เด็ก ๆ ลูกหลาน นักเรียนก็จึงให้พรแก่ผู้ใหญ่ได้
คือให้พรด้วยการกระทำของเรา
ด้วยการศึกษาของเรา
- หน้า 5 -

"กินอยู่ดี"
หมายความว่ารู้จักกินสิ่งที่ดี ให้พอดี
ที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิต
ทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม
มีสุขภาพดีแข็งแรง
- หน้า 6 -

จิตใจที่ดีนั้น
ร่าเริง เบิกบาน สดชื่น ผ่องใส
ไม่เครียด ไม่ขุ่นมัว ไม่มีความซึมเศร้าเหงาหงอย
หรือฟุ้งซ่านกระวนวายอะไรต่าง ๆ
- หน้า 10 -

ใจจะเข้มแข็งก็ต้องมีความเพียร
พูดยาว ๆ ว่าขยันหมั่นเพียร
พูดสั้น ๆ ว่าใจสู้
- หน้า 13 -

น้ำที่สงบนิ่ง
ก็เหมือนกับใจที่เป็นสมาธิ
เป็นใจที่ใส
ปัญญาจะดูจะคิดจะพิจารณาอะไร
ก็มองเห็นชัดไปหมด
- หน้า 19 -

【รีวิว】พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)

หนังสือ "พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"
ผู้เขียน : โอม รัชเวทย์
วันที่อ่าน : 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือ "พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)" บอกเล่าเรื่องราวชีวประวัติของพระอานนท์ พระอุปัฏฐากผู้ดูแลพระพุทธเจ้าอย่างเสียสละทุ่มเท และเป็นพหูสูตผู้รอบรู้และจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ทั้งหมด  การเรียนรู้ชีวประวัติของท่าน ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตโดยมีท่านเป็นแบบอย่าง ทั้งด้านการเอาใจใส่และความเพียร  ถ้าเราปฏิบัติตามพระอานนท์ เชื่อว่าชีวิตเราจะประเสริฐขึ้นเป็นแน่ แม้จะอยู่ในฐานะฆราวาสก็ตาม

คำคมจากหนังสือ "พระอานนท์ (ฉบับการ์ตูนสี่สี)"


ปัญญาที่มีสมาธิเป็นราก
เปรียบได้ดั่งดวงประทีป
เมื่อลุกโพลงขึ้นในใจ
ย่อมขจัดกิเลส
ซึ่งเสมือนความมืดให้หมดสิ้น
- หน้า 70 -

ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนของเรา
จึงจะได้ชื่อว่าสักการบูชาเราด้วยอาการอันยอดยิ่ง
- พระพุทธเจ้า, หน้า 88 -

เรานิพพานแต่เพียงร่างกายเท่านั้น
หลักธรรมยังคงอยู่ต่อไป
- พระพุทธเจ้า, หน้า 97 -

จิตมีธรรมชาติผ่องใสเหมือนจันทร์เจ้า
แต่มีเมฆหมอกคือกิเลสมาบดบังเป็นครั้งคราว
จิตจึงเศร้าหมอง
- พระสุภัททะ, หน้า 105 -

【รีวิว】ชีวิตที่สมบูรณ์

หนังสือ "ชีวิตที่สมบูรณ์"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 14 กุมภาพันธ์ 2565 (วันเดียวจบ)

(คนละปกกับที่อ่าน)

         หนังสือ "ชีวิตที่สมบูรณ์" เป็นหนังสือที่รวบรวมแนวคิดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ผู้เขียน เกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลักการดำเนินชีวิตให้มีชีวิตที่สมบูรณ์  ขอยกตัวอย่างหัวข้อเด่น ๆ เช่น "ทำไม โลกยิ่งพัฒนา ชาวประชายิ่งเป็นคนที่สุขยาก" "ความสุขจะเพิ่มทวี ถ้าพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ" "การพัฒนาแบบยั่งยืน มาด้วยกันกับความสุขแบบยั่งยืน"
         ถ้าเพื่อน ๆ คนใดอยากดำเนินชีวิตอย่างมี "ความสุข" มากขึ้น ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ  บาง ๆ อ่านไม่นานก็จบ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า... ความสุขไม่ได้มีแค่แบบเดียว

คำคมจากหนังสือ "ชีวิตที่สมบูรณ์"


ในเวลาที่ทำบุญนี่
ใจอย่าติดอยู่แค่พระ
ใจเราจะต้องมองยาวต่อออกไปถึงพระศาสนา
- หน้า 2 -

ตราบใดเรายังมีความสุขที่อิงอาศัยอยู่
มันก็เป็นความสุขที่ยังไม่เป็นอิสระ
- หน้า 14 -

ปัญหาของมนุษย์นั้นเกิดจากการที่ไม่รู้เท่าทันความจริง
แล้วก็วางใจต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง
จึงทำให้เราถูกธรรมชาติเบียดเบียนบีบคั้น
และครอบงำอยู่ตลอดเวลา
- หน้า 15 -

ถ้าต้องการจะให้เป็นไปตามที่เรากำหนดหรือตามที่มันควรจะเป็น
แล้วเราศึกษาเหตุปัจจัย รู้เหตุปัจจัย
และไปทำเหตุปัจจัยให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ
ก็จะเกิดผลสำเร็จขึ้น
- หน้า 17 -

เวลามองสิ่งต่าง ๆ
จะไม่มองด้วยความชอบใจหรือไม่ชอบใจ
แต่มองด้วยปัญญาที่ว่ามองตามเหตุปัจจัย
- หน้า 20 -

คนที่ดำเนินชีวิตเป็น
จะใช้ประโยชน์จากโลกธรรมฝ่ายร้ายได้
ทั้งในแง่เป็นเครื่องทดสอบจิตใจ
และเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา
- หน้า 30 -

ถ้าจิตถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบกระทั่งแล้วไม่หวั่นไหว
ยังสามารถมีใจเบิกบานเกษมปลอดโปร่ง
ไม่มีธุลีไร้ความขุ่นมัวเศร้าหมองผ่องใสได้
ก็เป็นมงคลอันสูงสุด
มงคลทั้ง 38 ประการมาจบลงสุดท้ายที่นี่
- หน้า 31 -

【รีวิว】รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง

หนังสือ "รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 12 - 14 กุมภาพันธ์ 2565




         หนังสือเล่มนี้ เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลาขณะบวชที่วัดญาณเวศกวัน  ผู้เขียน (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระไตรปิฎกผ่านคำอธิบาย ตัวอย่าง และการตอบข้อโต้เถียงต่าง ๆ อย่างเข้าใจง่าย  ไม่ใช่เนื้อหาหนัก ๆ แบบที่หลายคนอาจคิดไว้เมื่อได้เห็นคำว่า "พระไตรปิฎก" ในชื่อเรื่อง  ถ้าเพื่อน ๆ อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็จะได้เข้าใจเรื่องพระไตรปิฎกมากขึ้น ว่าอะไรคือพระไตรปิฎกบาลี อะไรคือพระไตรปิฎกภาษาไทย  รวมถึงได้รู้แนวคิดของผู้เขียนที่มีต่อแนวคิด "พุทธวจน" ด้วยครับ

【รีวิว】ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น

หนังสือ "ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 11 - 12 กุมภาพันธ์ 2565


         หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือนอกเวลาที่ภันเต (พระรุ่นพี่) ให้ผมอ่านในขณะที่บวชอยู่ ณ วัดญาณเวศกวัน  หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดแก่ผมหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่ว่า "มนุษย์" นั้นฝึกได้  เมื่อฝึกได้จึงพัฒนาได้  ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ฝึกได้และพัฒนาได้ทั้งนั้น เรื่องการใช้ชีวิตให้ไม่ทุกข์และมีสุขเองก็เช่นกัน  แต่สิ่งสำคัญก็คือเราจะฝึกอย่างไรให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด (เพราะเวลาของคนเราไม่ใช่ว่าเยอะ!)  ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้นเป็นเสมือนหนังสือฮาวทูที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว และมีคนรีวิวไว้มากมายว่าเป็นไปได้และได้ผลจริง  ถ้าเราเข้าใจหลักธรรมะและปฏิบัติตามได้ ก็คงจะเห็นทุกข์และสุขเป็นได้แน่นอน  เราทำได้ครับ!

คำคมจากหนังสือ "ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น"


นิโรธนั้นที่แท้ไม่ได้แปลแค่ดับทุกข์
ขอให้สังเกตว่า "นิโรธ" นั้นแปลว่า การไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์
- หน้า 20 -

พุทธศาสนาสอนให้รู้ทันทุกข์ และให้อยู่เป็นสุข
- หน้า 21 -

ที่จริงมันเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ
แต่เมื่อเราไปสัมพันธ์ ปฏิบัติต่อมันไม่ถูก
จึงเกิดเป็นทุกข์ในใจของเราขึ้นมา
- หน้า 28 -

มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ
คือต้องฝึก ต้องเรียนรู้
และเรียนรู้ได้ ฝึกได้
- หน้า 33 -

สาระของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้
คือการนำเอาความรู้ในธรรมชาติและกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์
สนองจุดหมายที่เราต้องการ
คือการพัฒนามนุษย์
- หน้า 45 -

พอปัญญามา รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร
จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร เราจะเอามันมาใช้ทำอะไรได้
ก็โล่งโปร่งสบายใจ หมดปัญหา
ไม่บีบคั้นติดขัดคับข้อง ใจก็โล่งไป
- หน้า 47 -

ปัญญามาก็ทำให้จิตใจเป็นอิสระ
มีความสุข โล่งโปร่ง แก้ปัญหาได้
เรียกว่าเป็นตัวปลดปล่อย
คือ liberate จิตใจ
- หน้า 47 -

สมาธิ แปลว่าจิตตั้งมั่น
คือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ
- หน้า 50 -

การดำเนินชีวิตชนิดที่มีการศึกษาพัฒนาชีวิตไปด้วยในตัว
จึงจะเป็นชีวิตที่ดี
- หน้า 51 -

ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น
ถ้าจะให้มนุษย์พัฒนา
มนุษย์จะต้องใช้อินทรีย์เพื่อรู้หรือศึกษาให้มาก
- หน้า 55 -

พอเกิดฉันทะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
นี้คือ แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม
เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา
- หน้า 58 -

จำไว้อย่างหนึ่งว่า
พระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด
- หน้า 60 -

ให้สันโดษในวัตถุเสพบริโภค
แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
- หน้า 68 -

จงพยายามพึ่งตน
ด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้
- หน้า 73 -

เราพึ่งคนอื่น เช่นพึ่งพระพุทธเจ้า
ก็เพื่อทำตัวเราให้พึ่งตนเองได้
- หน้า 75 -