วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง

หนังสือ "เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง"
ผู้เขียน : ฮิมิโตะ ณ เกียวโต และณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล
วันที่อ่าน : 8 - 10 มิถุนายน 2565


         หนังสือ "เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง" เป็นหนังสือแบบทูอินวัน คือมีทั้ง "เกียวโตที่รัก" และ "โตเกียวที่คิดถึง" อยู่ในเล่มเดียวกัน  ทั้งสองเรื่อง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน เพียงแต่เล่าเรื่องคนละเมือง และเล่าโดยผู้เขียนคนละคน
         ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเพลิน ๆ ไม่นานก็จบ  แม้ว่าตัวผมเองจะเคยไปเยือนทั้งสองเมืองดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เขียนทั้งสองท่านก็ทำให้ผมได้เห็นในบางมุมมองที่ไม่เคยสังเกตเห็น  ผมเชื่อว่าครั้งต่อไปที่ผมไปเยือนสองเมืองนี้ มุมมองของผม (และที่ที่ผมอยากไป) ก็อาจจะได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้ไม่น้อย

คำคมจากหนังสือ "เกียวโตที่รัก โตเกียวที่คิดถึง"


"เมือง"
เกิดจากมนุษย์
อยู่ได้ด้วยมนุษย์
และจะดีขึ้นเมื่อเราสำนึกตระหนักในคุณค่าของมนุษย์
- เกียวโตที่รัก, หน้า 37 -

การชงชา
คือการทำให้เรามีสติกำกับอยู่ทุกขณะจิตของการขยับร่างกาย
- เกียวโตที่รัก, หน้า 80 -

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส

หนังสือ "ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส"
ผู้เขียน : ปิยบุตร แสงกนกกุล
วันที่อ่าน : 11 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2565


         ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส เล่มนี้ เป็นผลงานชิ้นใหม่ของ อ.ปิยบุตร ที่บอกเล่าเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสในหลายมิติ  ทำให้ตัวผมที่มีความรู้ในเรื่องนี้เพียงผิวเผินได้เข้าใจเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมากทีเดียว  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันของผู้คนในสมัยนั้น ซึ่งก็ทำให้อึ้งเลยทีเดียวว่าคนฝรั่งเศสในสมัยนั้นได้ถกเถียงเรื่องราวเหล่านี้กันแล้วหรือ  นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังให้แง่คิดที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการมองภาพเหตุการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันได้เช่นกัน

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565

【รีวิว】超訳 日本国憲法

หนังสือ『超訳 日本国憲法』
ผู้เขียน : 池上彰 (อิเกงามิ อากิระ)
วันที่อ่าน : 16 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2565


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออธิบายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นจนจบอย่างเข้าใจง่าย พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์บ้านเมือง หรือข้อถกเถียงในสังคมประกอบ  ทำให้ผู้อ่านที่ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้อย่างผมสามารถอ่านได้ง่ายและได้ความรู้เกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่นอย่างมาก  ผมชอบที่ผู้เขียนยกตัวอย่างข่าวสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรานั้น ๆ ทำให้ผมเข้าใจตัวบทกฎหมายได้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องอ่านแต่ตัวบทอย่างเดียวครับ
         ใครอยากเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมากขึ้น ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ  ภาษาญี่ปุ่นในเล่มนี้ไม่ค่อยยากมากครับ อ่านสบาย ๆ เลย