วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】Call me OPPA

หนังสือ "Call me OPPA"
ผู้เขียน : ปรุงโอปป้า
วันที่อ่าน : 28 - 30 มีนาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักวัฒนธรรมการทำงานของคนเกาหลีอย่างละเอียดเลยทีเดียว  นอกจากเรื่องการทำงานแล้วผู้เขียนยังบอกเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับคนเกาหลีในสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้ผมเข้าใจสภาพสังคมและวิถีชีวิตของคนเกาหลีมากขึ้น และเห็นถึงข้อดีและข้อเสียซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ

หนังสือ "LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ"
ผู้เขียน : ไลลา ศรียานนท์
วันที่อ่าน : 25 - 27 มีนาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สนุกมาก ๆ  ชอบหนังสือแบบนี้ที่สุดเลยยยย555  ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตส ตั้งแต่ขั้นตอนการสอบเข้า จนถึงการทำงานจริงเลยทีเดียว  เรียกได้ว่า อ่านจบปุ๊บ ผมรู้เรื่องเกี่ยวกับวงการนี้ขึ้นเยอะเลยครับ!  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเล่าเรื่องได้สนุก ฮา น่าติดตามจนวางไม่ลงเลย  อ่านแป๊บเดียวก็จบเล่มแล้วอ่าครับ คิดดูสิ  ผมเชื่อว่าคนเราไม่สามารถประกอบอาชีพทุกอาชีพได้หมด แต่การอ่านหนังสือ ก็จะทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ ได้เนอะ :)

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】Blue chip kids สอนลูกเป็นนักลงทุน

หนังสือ "Blue chip kids สอนลูกเป็นนักลงทุน"
ผู้เขียน : David W. Bianchi
ผู้แปล : ชัชวนันท์ สันธิเดช
วันที่อ่าน : 25 - 26 มีนาคม 2565


         หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเหมือนพ่อสอนลูก เพราะในตอนแรกผู้เขียนตั้งใจจะเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ลูกอ่านอย่างเดียว แต่เขียนไปเขียนมาคงเพลิน เลยออกมาเป็นหนังสือให้พวกเราได้อ่านด้วยครับ  ด้วยความที่เล่าเรื่องเหมือนเล่าให้ลูกฟังนี้ เลยทำให้สามารถอธิบายเรื่องการเงินการลงทุนได้เข้าใจง่าย ๆ มาก  ผู้เขียนสอนเรื่องการเงินการลงทุนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานจนถึงเรื่องแอ็ดวานซ์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้  ทำให้ผมเข้าใจอะไร ๆ ในโลกการเงินได้มากขึ้นเลยครับ  ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากยังอยากเข้าใจโลกการเงินให้มากขึ้นแล้วล่ะก็ ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

หนังสือ "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" (The Miracle of Being Wake)
ผู้เขียน : ติช นัท ฮันห์ (Thích Nhất Hạnh)
วันที่อ่าน : 20 - 24 มีนาคม 2565


         นี่เป็นหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ เล่มแรกที่ผมอ่าน  หนังสือเล่มนี้มอบแง่คิดให้ผมมากมาย ทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่กับปัจจุบัน และตระหนักว่าการอยู่กับปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ  มันง่ายนิดเดียว! แต่มีประโยชน์ต่อชีวิตเรามหาศาลเลยครับ

คำคมจากหนังสือ "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ"


ขณะล้างจาน
เราก็ควรจะล้างจานอย่างเดียว
- หน้า 10 -

ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน
เวลามอง คุณก็จะไม่เห็น
ฟังแต่จะไม่ได้ยิน
กินแต่จะไม่ได้ลิ้มรส
- หน้า 16 -

เราต้องกล้ามองความตาย
รู้เท่าทันและยอมรับมัน
เหมือนเรามองและยอมรับการมีชีวิต
- หน้า 76 -

งานคือชีวิต
ก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น
- หน้า 87 -

【รีวิว】ราชาสถาน นิทานตื่นนอน

หนังสือ "ราชาสถาน นิทานตื่นนอน"
ผู้เขียน : ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข
วันที่อ่าน : 23 - 24 มีนาคม 2565


         ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือท่องเที่ยวมาก แต่ไม่ได้ชอบหนังสือที่เขียนเหมือนไกด์บุ๊ก  ผมชอบหนังสือแบบที่เล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แบบหนังสือเล่มนี้  ผู้เขียนได้พาผมไปตามรอยท่องเที่ยวยังเมืองต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย  นอกจากภาพประกอบที่สวยมาก ๆ แล้ว ผู้เขียนยังบอกเล่าเรื่องราวได้สนุกสนาน มีมุกตลกเป็นระยะ และน่าติดตามอย่างยิ่ง ทำให้ผมอ่านหนังสือเล่มนี้สองวันจบ  หนังสือเล่มนี้เปิดโลกทัศน์ที่ผมมีต่อประเทศอินเดียอย่างมาก ทำให้เห็นมุมสวย ๆ (สวยจนว้าว) ของประเทศนี้มากขึ้น  ได้รู้จักสถานที่ใหม่ ๆ โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยไปสัมผัสกลิ่นและเสียงด้วยตนเอง555 นอนสบาย ๆ อยู่บ้าน (ดูเอาเปรียบผู้เขียนมาก แต่ยังไงมันก็ไม่เหมือนได้ไปจริง ๆ หรอกเนอะครับ)  เพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจอะไรอินเดีย ๆ ก็ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูนะครับ แล้วจะได้สัมผัสความเป็นอินเดียมากขึ้น เผลอ ๆ อาจจะอยากไปสัมผัสเองโดยไม่รู้ตัว!

คำคมจากหนังสือ "ราชาสถาน นิทานตื่นนอน"


สำหรับผมในการเดินทางนั้น
มันเป็นเหมือนการสลายอัตตาในตัวเองแบบหนึ่ง
- หน้า 344 -

ออกเดินทางครั้งหน้า
นอกจากสัมภาระส่วนตัวแล้ว
ก็อย่าลืมพกตัวกู-ของกูลงกระเป๋าไปสลายมันทิ้งด้วยนะครับ :)
- หน้า 345 -

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】Dubai Diary ดูอะไรที่ดูไบ

หนังสือ "Dubai Diary ดูอะไรที่ดูไบ"
ผู้เขียน : อัลฮูดา ชนิดพัฒนา
วันที่อ่าน : 18 - 20 มีนาคม 2565


         ดูไบ เป็นเมืองที่ผมรู้จักมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปเสียที  การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนทำให้ผมได้ไปดูไบมาแล้วรอบหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องขึ้นเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ!
         ผู้เขียนพาเราไปรู้จักดูไบ (และอาบูดาบี) ในมุมมองที่หลากหลาย  ทั้งในมุมมองยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่รู้จัก และในมุมมองแปลกใหม่ที่ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจมาก ๆ และเริ่มรู้สึกอยากจะไปเยือนดินแดนทะเลทรายแห่งนี้สักครั้ง

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】บันเทิงเชิงร้าย

หนังสือ "บันเทิงเชิงร้าย"
ผู้เขียน : อินทิรา เจริญปุระ
วันที่อ่าน : 15 - 16 มีนาคม 2565


         ผมเองเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ เพราะทำให้เราได้รู้เรื่องราววงในของอาชีพนั้น ๆ  อาชีพนักแสดงเองก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ผมยังไม่เคยเข้าไปคลุกคลีเท่าไหร่นัก  การได้อ่านหนังสือ "บันเทิงเริงร้าย" เล่มนี้ทำให้ผมได้เพลิดเพลิน ได้ความรู้ และได้ประสบการณ์อย่างมาก (ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยแสดงหนังเลยสักเรื่อง!)  ผู้เขียนเล่าเรื่องได้อย่างสนุก น่าติดตาม แฝงข้อความจิกกัดให้เราได้ขบขันในใจอยู่เสมอ  ใครที่อยากรู้เรื่องราวในวงการ "คนกองฯ" มากขึ้น ก็ลองอ่านดูนะครับ

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

【รีวิว】ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้

หนังสือ "ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้"
ผู้เขียน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่อ่าน : 28 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2565


         หนังสือ "ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้" เล่มนี้ เป็นหนังสือธรรมะที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย  หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า 2 สิ่งนี้จะมาอยู่ร่วมกันได้ แต่หากเพื่อน ๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จะพบว่า 2 สิ่งนี้สามารถสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน  ผมรู้สึกประทับใจในความสามารถของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่สามารถจับ 2 สิ่งนี้มาร้อยเรียงกันได้อย่างลงตัว
         นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังทำให้ผมหันกลับมามองสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน  ผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกคนมีคุณสมบัติของธรรมาธิปไตย ประเทศไทยคงมีประชาธิปไตยที่เป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

คำคมจากหนังสือ "ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้"


การเสียชีวิตของท่านเหล่านั้นจะไม่เป็นของว่างเปล่าไร้ค่า
ก็ต่อเมื่อคนที่อยู่ข้างหลังผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่
ได้สืบต่อสิ่งดีงามที่จะทำให้ประชาธิปไตยได้รับการสร้างสรรค์และส่งเสริมสืบต่อไป
- หน้า 9 -

ประชาธิปไตยนั้น
เป็นการปกครองกันด้วยปัญญา
ของคนที่มีจิตใจเป็นเสรี
- หน้า 44 -

ในสังคมประชาธิปไตยนั้น
คนจะยอมตัวและยอมกันได้เพื่อเห็นแก่ธรรม
เพราะเขายอมรับนับถือธรรมนั้น
ให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตัวตนของเขา
ทุกคนถือธรรมเป็นใหญ่และยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม
- หน้า 50 -

นักการเมืองที่จะทันกับยุคต่อไปนี้
นอกจากจะต้องมองการณ์ไกล
เป็นผู้ข้ามขีดขั้นของกาลเวลาไปได้แล้ว
จะต้องเป็นนักการเมืองที่มีความเป็นสากล
คือก้าวข้ามขีดขั้นของเทศะ
ไปสู่การแก้ปัญหาของมวลมนุษยชาติทั่วโลก
คือปัญหาสากลที่มีเสมอเหมือนกันทั่วโลกแห่งความขาดภราดรภาพนี้
- หน้า 76 -

ความรักและไมตรีอย่างจริงใจนี้
ทำให้สัมพันธ์คบหากันโดยไม่มีอุบายซ่อนเร้นต่อกัน
ไม่มีลักษณะที่เรียกว่า
แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง
แต่เป็นแบบที่ว่า
ยอมรับจุดต่าง อยู่กันบนฐานของจุดร่วม
- หน้า 82 -

คนที่มีเสรีภาพที่แท้จริง
ก็คือคนที่มีจิตใจเป็นอิสระ
ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส
- หน้า 89 -

ทุกคนนั้น
ในจิตใจต้องมีเจตนาที่ประกอบด้วยเมตตา
และต้องใข้ต้องพัฒนาปัญญาอยู่เรื่อยไป
- หน้า 93 -

เรื่องของประชาธิปไตยนั้น
ในที่สุดก็หนีธรรมะไปไม่พ้น
ต้องมีธรรมและเอาธรรมไปใช้ปฏิบัติ
โดยเฉพาะรู้จักเลือกจับธรรมะให้ตรงกับเรื่องราว
- หน้า 97 -

พอถึงตอนเลือกตั้ง
แค่ราษฎรตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตยเท่านั้นแหละ
แผ่นดินก็พลิกเลย
- หน้า 117 -

ไม่ว่าในการปกครองรูปแบบไหนก็ตาม
คุณสมบัติที่ต้องการของมนุษย์ก็คือ
ธรรมาธิปไตย
- หน้า 162 -