วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ธรรมเนียมความเชื่อญี่ปุ่นในวรรณกรรมสมัยเฮอัน

หนังสือ "ธรรมเนียมความเชื่อญี่ปุ่นในวรรณกรรมสมัยเฮอัน"
ผู้เขียน : อรรถยา สุวรรณระดา
วันที่อ่านจบ : 27 กันยายน 2563

         ผมได้เรียนรู้ธรรมเนียมความเชื่อของญี่ปุ่นในสมัยเฮอันมากมายจากหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องของความฝัน ความเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต ความเชื่อในเรื่องศาสนา  หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้ว่ามนุษย์เมื่อพันปีที่แล้วก็มีความรู้สึกนึกคิด มีปัญญา มีความรู้ความสามารถไม่แตกต่างจากมนุษย์ในปัจจุบัน  การศึกษาวรรณกรรมญี่ปุ่นโบราณทำให้ผมได้พบกับความเป็นอนิจจังของชีวิต ทำให้ผมเข้าใจสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น ว่าชีวิตคนเรามันก็เท่านี้เอง

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】พืช สัตว์ ตัวเลข กับตำนานยุคเทพเจ้าของญี่ปุ่น

หนังสือ "พืช สัตว์ ตัวเลข กับตำนานยุคเทพเจ้าของญี่ปุ่น"
ผู้เขียน : อรรถยา สุวรรณระดา
วันที่อ่าน : 18 - 19 กันยายน 2563


         หนังสือเล่มนี้อธิบายเรื่องความคิดความเชื่อของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับ "พืช สัตว์ ตัวเลข" ในโคะจิกิ (古事記) หรือตำนานเทพเจ้าของญี่ปุ่น  หากใครได้เคยอ่านโคะจิกิก็จะทราบว่ามีพืช สัตว์ และตัวเลขต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้เต็มไปหมด  หลายครั้งเป็นการปรากฏซ้ำ ๆ อย่างมีนัยสำคัญ  หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้ทราบว่าพืช สัตว์ และตัวเลขเหล่านั้นมีความหมายอันลึกซึ้งซ่อนอยู่

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】Catch Me If You Can

หนังสือ "Catch Me If You Can"
ผู้เขียน : Frank W. Abagnale
วันที่อ่าน : 23 กรกฎาคม - 13 กันยายน 2563


         หลังจากดูภาพยนตร์เรื่อง "Catch Me If You Can" จบ ผมก็ตามหาหนังสือต้นฉบับอ่านทันที

         หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของ Frank W. Abagnale นักต้มตุ๋น (?) ระดับโลก ผู้สร้างวีรกรรมสุดแสบในประเทศต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปลอมตัวเป็นกัปตัน อาจารย์ หรือแม้กระทั่งหมอ

         ผู้เขียนเล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน อ่านแล้วลื่นไหล  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักผู้เขียนในแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น  ขอบอกเลยว่าละเอียดและลึกว่าในภาพยนตร์แน่นอน

คำคมจากหนังสือ "Catch Me If You Can"


it's not how good a cheque looks
but how good the person behind the cheque looks
that influences tellers and cashiers
- หน้า 94 -

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น

หนังสือ "ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น"
ผู้เขียน : อรรถยา สุวรรณระดา
วันที่อ่าน : 20 สิงหาคม - 6 กันยายน 2563


         หนังสือ "ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น" เล่มนี้เป็นหนังสือบังคับอ่านของวิชาประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  หากผมไม่ได้มาเรียนวิชานี้ ชีวิตนี้ผมอาจจะไม่ได้รู้เรื่องราวเหล่านี้เลยก็เป็นได้

         ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียน (อาจารย์ของผมเอง) จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับวรรณคดีญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยยะมะโตะ-นารา, สมัยเฮอัน, สมัยคะมะกุระ-มุโระมะชิ จนถึงสมัยเอโดะ  ผู้อ่านจะได้ดื่มด่ำไปกับความงามของวรรณคดีในแต่ละยุค ซึ่งขอบอกไว้ก่อนเลยว่าวรรณคดีแต่ละยุคนั้นมีความงามที่แตกต่างกัน  นอกจากได้ดื่มด่ำกับวรรณคดีแล้ว ผู้อ่านยังได้รู้ความสัมพันธ์ของวรรณคดีแต่ละเรื่องว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

         สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดจากการศึกษาวรรณคดีญี่ปุ่น คือมุมมองของกวีที่มีต่อความงาม โดยเฉพาะการมองเห็นความงามในความไม่จีรัง การมองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ  ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจความไม่ยั่งยืนของชีวิต (อนิจจัง) และทำให้เราสามารถดื่มด่ำกับชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบของเราได้อย่างมีความสุข