วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ทัศนะการมองโลกในวรรณกรรมโฮโจกิ: บันทึกเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อ 800 ปีก่อนของญี่ปุ่น"

หนังสือ "ทัศนะการมองโลกในวรรณกรรมโฮโจกิ: บันทึกเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อ 800 ปีก่อนของญี่ปุ่น"
ผู้เขียน : อรรถยา สุวรรณระดา
วันที่อ่าน : 9 - 20 พฤศจิกายน 2563


คำคมจากหนังสือ "ทัศนะการมองโลกในวรรณกรรมโฮโจกิฯ"


ลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือนที่นิยมสร้างด้วยไม้ซึ่งผุพังง่าย
สามารถรื้อถอนหรือปลูกสร้างได้ง่ายเช่นนี้นี่เอง
ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อทัศนะของโชเมะอิ
ในการมองเห็นอนิจจังโลกผ่านที่อยู่อาศัย
- หน้า 6 -

ทัศนะการมองเห็นอนิจจังของโลกผ่านสภาพที่อยู่อาศัยนี้เอง
ที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีลักษณะเฉพาะ
แตกต่างไปจากวรรณกรรมที่สะท้อนอนิจจังโลกชิ้นอื่น 
- หน้า 56 -

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】เรื่องเล่าคืนฝนพรางจันทร์

หนังสือ "เรื่องเล่าคืนฝนพรางจันทร์"
ผู้เขียน : อุเอะดะ อะกินะริ (上田秋成)
วันที่อ่าน : 8 กันยายน - 7 พฤศจิกายน 2563



วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ธรรมเนียมความเชื่อญี่ปุ่นในวรรณกรรมสมัยเฮอัน

หนังสือ "ธรรมเนียมความเชื่อญี่ปุ่นในวรรณกรรมสมัยเฮอัน"
ผู้เขียน : อรรถยา สุวรรณระดา
วันที่อ่านจบ : 27 กันยายน 2563

         ผมได้เรียนรู้ธรรมเนียมความเชื่อของญี่ปุ่นในสมัยเฮอันมากมายจากหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องของความฝัน ความเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต ความเชื่อในเรื่องศาสนา  หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้ว่ามนุษย์เมื่อพันปีที่แล้วก็มีความรู้สึกนึกคิด มีปัญญา มีความรู้ความสามารถไม่แตกต่างจากมนุษย์ในปัจจุบัน  การศึกษาวรรณกรรมญี่ปุ่นโบราณทำให้ผมได้พบกับความเป็นอนิจจังของชีวิต ทำให้ผมเข้าใจสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น ว่าชีวิตคนเรามันก็เท่านี้เอง

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】พืช สัตว์ ตัวเลข กับตำนานยุคเทพเจ้าของญี่ปุ่น

หนังสือ "พืช สัตว์ ตัวเลข กับตำนานยุคเทพเจ้าของญี่ปุ่น"
ผู้เขียน : อรรถยา สุวรรณระดา
วันที่อ่าน : 18 - 19 กันยายน 2563


         หนังสือเล่มนี้อธิบายเรื่องความคิดความเชื่อของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับ "พืช สัตว์ ตัวเลข" ในโคะจิกิ (古事記) หรือตำนานเทพเจ้าของญี่ปุ่น  หากใครได้เคยอ่านโคะจิกิก็จะทราบว่ามีพืช สัตว์ และตัวเลขต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้เต็มไปหมด  หลายครั้งเป็นการปรากฏซ้ำ ๆ อย่างมีนัยสำคัญ  หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้ทราบว่าพืช สัตว์ และตัวเลขเหล่านั้นมีความหมายอันลึกซึ้งซ่อนอยู่

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】Catch Me If You Can

หนังสือ "Catch Me If You Can"
ผู้เขียน : Frank W. Abagnale
วันที่อ่าน : 23 กรกฎาคม - 13 กันยายน 2563


         หลังจากดูภาพยนตร์เรื่อง "Catch Me If You Can" จบ ผมก็ตามหาหนังสือต้นฉบับอ่านทันที

         หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของ Frank W. Abagnale นักต้มตุ๋น (?) ระดับโลก ผู้สร้างวีรกรรมสุดแสบในประเทศต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปลอมตัวเป็นกัปตัน อาจารย์ หรือแม้กระทั่งหมอ

         ผู้เขียนเล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน อ่านแล้วลื่นไหล  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักผู้เขียนในแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น  ขอบอกเลยว่าละเอียดและลึกว่าในภาพยนตร์แน่นอน

คำคมจากหนังสือ "Catch Me If You Can"


it's not how good a cheque looks
but how good the person behind the cheque looks
that influences tellers and cashiers
- หน้า 94 -

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น

หนังสือ "ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น"
ผู้เขียน : อรรถยา สุวรรณระดา
วันที่อ่าน : 20 สิงหาคม - 6 กันยายน 2563


         หนังสือ "ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น" เล่มนี้เป็นหนังสือบังคับอ่านของวิชาประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  หากผมไม่ได้มาเรียนวิชานี้ ชีวิตนี้ผมอาจจะไม่ได้รู้เรื่องราวเหล่านี้เลยก็เป็นได้

         ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียน (อาจารย์ของผมเอง) จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับวรรณคดีญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยยะมะโตะ-นารา, สมัยเฮอัน, สมัยคะมะกุระ-มุโระมะชิ จนถึงสมัยเอโดะ  ผู้อ่านจะได้ดื่มด่ำไปกับความงามของวรรณคดีในแต่ละยุค ซึ่งขอบอกไว้ก่อนเลยว่าวรรณคดีแต่ละยุคนั้นมีความงามที่แตกต่างกัน  นอกจากได้ดื่มด่ำกับวรรณคดีแล้ว ผู้อ่านยังได้รู้ความสัมพันธ์ของวรรณคดีแต่ละเรื่องว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

         สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดจากการศึกษาวรรณคดีญี่ปุ่น คือมุมมองของกวีที่มีต่อความงาม โดยเฉพาะการมองเห็นความงามในความไม่จีรัง การมองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ  ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจความไม่ยั่งยืนของชีวิต (อนิจจัง) และทำให้เราสามารถดื่มด่ำกับชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบของเราได้อย่างมีความสุข

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】สามัญสำนึก

หนังสือ "สามัญสำนึก"
ผู้เขียน : โธมัส เพน (Thomas Paine)
ผู้แปล : ภัควดี วีระภาสพงษ์
วันที่อ่าน : 11 - 25 สิงหาคม 2563


         หนังสือ "สามัญสำนึก" เล่มนี้ เป็นหนังสือที่อาจารย์ปิยบุตรแนะนำให้อ่าน...

         หลังจากอ่านจบ (เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง) ก็มีอาการตาสว่างเล็กน้อย (ไม่มากนัก อาจจะเพราะยังไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์) ตาสว่างในที่นี้หมายความว่า สามารถมองโลกในมุมใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยมอง (หรือไม่เคยกล้ามอง) มาก่อน  ใครอยากรู้ว่าเป็นยังไง ก็ต้องลองอ่านเอาเองนะค้าบ

คำคมจากหนังสือ "สามัญสำนึก"


ยิ่งสิ่งหนึ่งเรียบง่ายเท่าไร
โอกาสที่มันจะยุ่งเหยิงก็น้อยลงเท่านั้น
- หน้า 49 -

หากสรุปให้เหลือคำถามเดียวก็คือ
อำนาจที่ริษยาความรุ่งเรืองของเรา
เป็นอำนาจที่เหมาะสมจะปกครองเราหรือไม่?
- หน้า 92 -

นักการเมืองผู้ค้นพบรูปแบบการปกครอง
ที่ครอบคลุมความสุขของปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่สุด
โดยประเทศชาติเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
ย่อมได้รับการยกย่องนับถือไปอีกหลายชั่วรุ่น
- หน้า 100 -

เมื่อคนเราเชือนแชจากหนทางที่ถูกต้อง
ก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาย่อมสะดุดล้มลุกคุกคลาน
- หน้า 142 -

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】The One% สิ่งที่คนสำเร็จ 1% ของโลกทำ คน 99% อยากรู้

หนังสือ "The One% สิ่งที่คนสำเร็จ 1% ของโลกทำ คน 99% อยากรู้"
ผู้เขียน : ภัทรพล ศิลปาจารย์
วันที่อ่าน : 30-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563


         หนังสือ The One% สิ่งที่คนสำเร็จ 1% ของโลกทำ คน 99% อยากรู้ เล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมเคล็ดลับความสำเร็จของคน 1% ที่คนทั่วไปอยากรู้  หลังจากที่ผมอ่านจบแล้ว ผมรู้สึกว่าเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดของคนที่ประสบความสำเร็จนั้นมีสองอย่าง คือ "ทัศนคติ" กับ "ความใจจดใจจ่อ"  ในส่วนของ "ทัศนคติ" นั้น คนที่ประสบความสำเร็จมักมีทัศนคติไปในเชิงบวก ในเชิงพัฒนา ไม่มองโลกในแง่ลบ  เมื่อประสบกับวิกฤต คนเหล่านี้ก็สามารถมองหาโอกาสในทุกวิกฤตได้  ส่วน "ความใจจดใจจ่อ" นั้น คนที่ประสบความสำเร็จมักจดจ่อกับสิ่งที่เขาทำ มีสมาธิตั้งมั่น ไม่ว่อกแว่ก  หากทุกคนสามารถทำตามหนังสือเล่มนี้ แม้ไม่ถึง 100% ก็ตาม ผมว่าโลกของเราอาจจะมีคนที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น มากกว่า 1% ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป

หนังสือ "ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป"
ผู้เขียน : ปิยบุตร แสงกนกกุล
วันที่อ่าน : 27 มิถุนายน - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563


         หนังสือ "ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป" เป็นหนังสือการเมืองแบบแน่น ๆ เล่มแรก ๆ ที่ผมอ่าน (ใช้เวลาอ่านถึง 1 เดือน) ถึงจะบอกว่าแน่น ๆ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่น่าเบื่อ  อ.ปิยบุตรเขียนได้อย่างออกรสออกชาติ บางทีก็ฝีปากเจ็บแสบจนผู้อ่านอึ้ง  หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้ได้เข้าใจเรื่องการเมืองขึ้นมาก ทำให้ผมเข้าใจความเป็นมาและความเป็นไปของประชาธิปไตยในประเทศไทย

คำคมจากหนังสือ "ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป"


การวิจารณ์อันอาจจะยอมรับได้
ต่อบรรดานักการเมืองและบุคคลสาธารณะ
ต้องมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าบุคคลธรรมดา
- หน้า 53 -

ประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ
โดยเนื้อแท้แล้วก็คือประวัติศาสตร์เหตุการณ์
การเคลื่อนไหวของมวลมหาชนนั่นเอง
- หน้า 123 -

ประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีเสรีภาพ
แต่เสรีภาพไม่ได้มีความหมายเดียวกับประชาธิปไตย
- หน้า 128 -

วิธีคิดแบบ Enlightenment ไม่ได้ขัดแย้งกับศาสนาเท่านั้น
แต่ยังขัดแย้งกับอำนาจของกษัตริย์ด้วย
- หน้า 134 -

เราต้องสร้างการศึกษา
ที่ไปปลูกฝังอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐ แบบประชาธิปไตย
เข้าไปที่เด็ก ๆ นี่แหละ
แล้ววันข้างหน้าพวกเขาจะโตมาในระบอบนี้เอง
- หน้า 140 -

ข้าพเจ้าเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน
ที่ว่าสิ่งที่อยู่รอด ไม่ใช่สิ่งที่แข็งแรงที่สุด
แต่เป็นสิ่งที่ปรับตัวได้ดีที่สุด
- หน้า 304 -

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】วิธีจัดบ้านให้เรียกความสุขที่คนโด มาริเอะ อยากบอกคุณ (毎日がときめく片づけの魔法)

หนังสือ "วิธีจัดบ้านให้เรียกความสุขที่คนโด มาริเอะ อยากบอกคุณ" (毎日がときめく片づけの魔法)
ผู้เขียน : คนโด มาริเอะ (近藤麻理恵)
วันที่อ่าน : 29 เมษายน - 4 มิถุนายน 2563


         ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ที่ BOOKOFF สาขาเกียวโต เพิ่งได้มาอ่านจบก็ตอนอยู่บ้านช่วงโควิด-19 นี่เอง ตัวผมติดตามผลงานของคุณคนโด มาริเอะ มานาน  ได้ลองจัดบ้านแบบคมมาริ (แต่ไม่ 100%) มาหลายครั้ง จึงชื่นชอบหนังสือของผู้เขียนท่านนี้เป็นพิเศษ

         สำหรับใครที่เคยอ่านผลงานของคุณคนโดมาแล้ว ก็อ่านเล่มนี้ได้อีก เพราะหนังสือเล่มนี้ก็มีการเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่ไม่เคยกล่าวถึงในเล่มก่อน ๆ  หรือถ้าหากผู้อ่านท่านไหนที่ไม่เคยอ่านผลงานของคุณคนโดเลย จะอ่านเล่มนี้เป็นเล่มแรกเลยก็ได้ครับ รู้เรื่อง

          หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเห็นความสำคัญของจัดบ้านมากขึ้น เห็นความสุขในชีวิตที่อยู่อาศัยในบ้านที่ปลุกเร้าความสุขมากขึ้น แต่ข้อคิดที่สำคัญที่สุดที่ผมประทับใจคือข้อคิดที่ว่า บางที เราอาจไม่จำเป็นต้องจัดบ้านให้สำเร็จ 100% ก็ได้ เพียงแค่มองหาวิธีใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแต่ละวัน เราก็จะสามารถมีชีวิตที่ดีได้

คำคมจากหนังสือ『毎日がときめく片づけの魔法』

おうちは変えられなくても、暮らしは変えられます。
- หน้า 36 -

幸せに「なる」のではなく、
幸せは「ある」のだなと、
最近気づきました。
- หน้า 184 -

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】ปลอมตัวเป็นผู้ดีอังกฤษ

หนังสือ "ปลอมตัวเป็นผู้ดีอังกฤษ"
ผู้เขียน : วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์
วันที่อ่าน : 23 - 29 พฤษภาคม 2563


         ปลอมตัวเป็นผู้ดีอังกฤษ เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2539 แต่ผมเพิ่งมาอ่านเอาตอนนี้!! ตึ่งตึง  แต่นั่นแหละคือเหตุผลที่ผมอ่าน อิอิ

         หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จัก ลอนดอน ในสมัยก่อน (ก่อนผมเกิดอีก) ทำให้ผมเห็นวิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้น และทำให้ผมอยากไปเยือนลอนดอนอีกครั้ง  ผมรู้สึกว่า ไม่ว่ากาลเวลาจะผันเปลี่ยนเท่าไหร่ มหานครแห่งนี้ก็ยังคงมีเสน่ห์อยู่เหนือกาลเวลา  คมปะล่ะ

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】เรื่องเล่าสาวไซด์ไลน์

หนังสือ "เรื่องเล่าสาวไซด์ไลน์"
ผู้เขียน : Booking
วันที่อ่าน : 22 - 23 พฤษภาคม 2563


         ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ แต่สำหรับอาชีพ "ไซด์ไลน์" นั้น นี่เป็นเล่มแรกที่ผมได้อ่าน...

         ผู้เขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ได้สนุกมากกก  มีลีลาในการเขียนที่ดีจนผมวางไม่ลงเลยทีเดียว  ไม่ได้อ่านหนังสือที่สนุกแบบนี้มานานแล้วครับ555+  ขอขอบคุณผู้เขียนที่นำเรื่องเล่าในวงการสาวไซด์ไลน์มีตีแผ่ให้คนนอกวงการได้รับรู้  หนังสือเล่มนี้ให้ทั้งประสบการณ์และข้อคิดที่หากพิจารณาดี ๆ จะพบว่าแอบแฝงอยู่มากมาย

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】เส้นสายลายสยอง

หนังสือ "เส้นสายลายสยอง"
ผู้เขียน : ตรี อภิรุม
วันที่อ่าน : 6 - 22 พฤษภาคม 2563


         เส้นสายลายสยอง เป็นผลงานของคุณตรี อภิรุม เล่มแรกที่ผมอ่าน  ผมอ่านจบด้วยความรู้สึกงง ๆ ไม่ได้งงเพราะเข้าใจยาก แต่งงว่าอ่านอะไรอยู่555  ผมรู้สึกว่านิยายเรื่องนี้แปลก สนุกแบบแปลก ๆ  รู้สึกว่าตัวละครไม่ค่อยมีมิติ ตัวร้ายก็ร้ายเหมือน ๆ กัน ถ้าไม่บอกชื่อผมนึกว่าคนเดียวกันไปแล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกติดใจคือบทพูดที่ไม่ค่อยธรรมชาติ  บางครั้งอ่านไปก็คิดนะ คนจริง ๆ เขาพูดกันอย่างนี้หรือ  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมก็อ่านจบจนได้555

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】Wildcard

หนังสือ "Wildcard"
นวนิยายชุด Warcross เล่ม 2
ผู้เขียน : Marie Lu
วันที่อ่านจบ : 18 พฤษภาคม 2563


         "Wildcard" เป็นนิยายที่ผมใช้เวลาอ่านนานมากกก  เคยอ่านตอนเรียนปี 1 เทอม 2 แล้วอ่านไม่จบ  มาอ่านจบเอาตอนหยุดอยู่บ้านช่วงโควิดนี่แหละ

         นิยายเล่มนี้ก็สนุกสวยงามตามท้องเรื่องครับ  ใครที่เคยอ่าน Warcross ก็ควรอ่านเล่มนี้ต่อ จะได้รู้เรื่องราวและความเป็นไปของตัวละครที่ต่อจากเล่มแรก

         ผมคิดว่านิยายเล่มนี้ก็สนุกไม่แพ้เล่มแรก แต่ผมรู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันเดาง่ายไปหน่อย เลยไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ ตอนจบก็ไม่ได้อู้วหู้วอะไรขนาดนั้น  เอาเป็นว่าถ้าใครอ่านเล่ม 1 แล้วอยากรู้เรื่องต่อก็ควรอ่านเล่มนี้ครับ

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】Lydia... Here I am!

หนังสือ "Lydia... Here I am!"
ผู้เขียน : ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา
วันที่อ่าน : 4 พฤษภาคม 2563


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์มา 10 กว่าปีแล้ว แต่ผมเพิ่งมาได้อ่าน...

         การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักประวัติชีวิตของพี่ลิเดียมากขึ้น ได้รู้จักครอบครัว ได้รู้จักมุมมองความคิด  พี่ลิเดียเล่าเรื่องได้สนุกมาก ๆ จนอ่านเพลินวันเดียวจบเลยครับ  นอกจากเรื่องพี่ลิเดียแล้ว ผมยังได้มีโอกาสรู้จักท่านอดีตนายกทักษิณอีกด้วย (รู้จักท่าน แต่ท่านคงไม่รู้จักผม55) เรียกได้ว่า อ่านเล่มนี้เล่มเดียว ได้รู้เรื่อง exclusive มากมายครับ!

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】กัลปาวสาน

หนังสือ "กัลปาวสาน"
ผู้เขียน : พงศกร
วันที่อ่าน : 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2563


         อ่านแป๊บเดียวจบแล้วครับเล่มนี้... สนุกตั้งแต่ต้นจนจบจริง ๆ ครับ

         ตัวผมเองเคยอ่านนิยายแนวไซไฟของไอแซค อสิมอฟมาแล้ว และส่วนตัวก็ชอบนิยายแนวนี้มาก ๆ ด้วย พอได้มาอ่านงานของคุณพงศกรก็นับว่าแต่งได้ดีทีเดียว แต่อาจจะมีติดใจอยู่บ้างที่กลวิธีการเขียนในเรื่อง ซึ่งพยายามเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบันอยู่บ่อยครั้งจนเกินจำเป็น จนดูเหมือนชาวโลกอนาคตในเรื่องรู้จักโลกปัจจุบันดีเกินไป ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ชอบคือพระเอก! ไม่ชอบอย่างไม่มีเหตุผลครับ ชอบพระรองมากกว่าจนแอบลุ้นให้คู่กับนางเอกเฉยเลย พระรองเรื่องนี้เป็นคนดีมากกกครับ

         ส่วนที่ผมชอบในเรื่องนี้เป็นพิเศษก็คือความเป็นโลกอนาคตแบบไทย ๆ  ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวละคร หรือสถานที่ต่าง ๆ มีความเป็นไทยซ่อนอยู่ (ขนาดวัดยังมี)  ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอรรถรสเล็ก ๆ ที่หาไม่ได้ในนิยายตะวันตก แต่หาได้ใน กัลปาวสาน เล่มนี้ นี่เอง!

【รีวิว】ลงทุนหุ้นอย่างไร กำไร...ตั้งแต่ซื้อ

หนังสือ "ลงทุนหุ้นอย่างไร กำไร...ตั้งแต่ซื้อ"
ผู้เขียน : ชัชวนันท์ สันธิเดช
วันที่อ่าน : 11 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2563


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสอนการลงทุนที่สนุกมากครับ  ไม่มีบทไหนที่น่าเบื่อเลย  ผู้เขียนมีสไตล์การเล่าเรื่องที่ดี มีการยกตัวอย่างสนุก ๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น  อ่านเล่มนี้แล้วได้ความรู้แถมยังได้ความสนุกอีกด้วยครับ

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ใต้เงาปิรามิด

หนังสือ "ใต้เงาปิรามิด"
ผู้เขียน : จินตวีร์ วิวัธน์
วันที่อ่าน : 26-29 เมษายน 2563


         หนังสือ "ใต้เงาปิรามิด" เป็นผลงานของคุณจินตวีร์ วิวัธน์ เล่มแรกที่ผมอ่านจบ (สารภาพว่าเคยอ่านเล่มอื่นแล้ว แต่อ่านไม่จบอย่างไม่มีเหตุผล)

         หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครหญิงชื่อ "กตัญชลี" โดยมีฉากหลังเป็นอียิปต์ตลอดทั้งเรื่อง  อ่านไปก็สัมผัสได้ถึงไอแดด อุณหภูมิที่ร้อนระอุ และละอองทรายที่อยู่ในอากาศ  น่าจะถูกใจผู้อ่านที่ชอบบรรยากาศแบบอียิปต์

         การดำเนินเรื่องก็เป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น แต่ไม่หวือหวามาก  เรื่องราวจะค่อย ๆ ซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับในแต่ละบทที่ผ่านไป  ด้วยความที่หนังสือไม่หนามาก ทำให้เนื้อเรื่องค่อนข้างกระชับ ไม่ยืดเยื้อ  ทว่า เนื้อเรื่องอาจจะเรียบไปเสียหน่อย ค่อนข้างคาดเดาได้ (หรือผมจะเคยชินกับเรื่องแนวหักมุมก็ไม่รู้)

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】100 เทคนิคลับของหน่วย SEAL (ฉบับต้องรอดในทุกสถานการณ์)

หนังสือ "100 เทคนิคลับของหน่วย SEAL (ฉบับต้องรอดในทุกสถานการณ์)"
ผู้เขียน : Clint Emerson
ผู้แปล : สรศักดิ์ สุบงกช
วันที่อ่าน : 21 มีนาคม - 23 เมษายน 2563


         หนังสือ 100 เทคนิคลับของหน่วย SEAL (ฉบับต้องรอดในทุกสถานการณ์) เล่มนี้เป็นหนังสือที่สอนเทคนิคลับในการเอาชีวิตรอดต่าง ๆ ที่หาไม่ได้ตามตำรา หรืออินเทอร์เน็ต  ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าได้ความรู้มหาศาล แต่จะกล้าเอาไปใช้จริงหรือเปล่า...อันนี้ไม่รู้ เพราะบางอย่างในเล่มก็ดู...เอ่อ เละเทะไปหน่อย แต่บางอย่างก็น่าจะนำไปใช้ได้จริงและอาจจะช่วยชีวิตใครหลาย ๆ คนได้เลยครับ  ผมชอบประโยคประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า "การสูญพันธุ์เป็นกฎธรรมชาติ ส่วนการอยู่รอดนั้นเป็นข้อยกเว้น"

วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ศพข้างบ้าน

หนังสือ "ศพข้างบ้าน"
ผู้เขียน : สรจักร ศิริบริรักษ์
วันที่อ่าน : 11-12 เมษายน 2563


         หลังจากอ่าน "ศพใต้เตียง" จบ ผมก็ตามมาอ่าน "ศพข้างบ้าน" ทันที…

         ส่วนตัวผมรู้สึกว่า เล่มนี้สนุกไม่เท่า "ศพใต้เตียง" เพราะหลายเรื่องไม่ค่อยหลอนเท่าไหร่ ออกแนวหักมุมให้ผู้อ่านหงุดหงิดเล่นมากกว่า555 แต่ก็ถือว่าทำให้ผมอ่านเพลิน ๆ ได้จนจบเล่มแล้วกันครับ

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】เหลี่ยมโบตั๋น (Crazy Rich Asians)

หนังสือ "เหลี่ยมโบตั๋น" (Crazy Rich Asians)
ผู้เขียน : Kevin Kwan
ผู้แปล : ศศิ พินทุ์
วันที่อ่าน : 19 มีนาคม - 11 เมษายน 2563


         หลังจากดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผมก็รู้สึกว่า สนุกดีแฮะ ก็เลยหานวนิยายต้นฉบับมาอ่านต่อ

         "เหลี่ยมโบตั๋น" เป็นนิยายที่สนุก ครบรส แต่สิ่งที่ผมชอบกลับเป็นความรู้ที่นิยายเรื่องนี้ให้ผม  ผมได้รู้จักวิถีชีวิตของคนรวย ได้รู้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร อยู่อย่างไร กินอย่างไร และคิดอย่างไร  ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่อาจหาได้ง่าย ๆ ในชีวิตจริง  การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเหมือนกับการเปิดโลกใบใหม่ให้ผม และทำให้ผมอยากไปเที่ยวสิงคโปร์555

【รีวิว】เรื่องชาวบ้าน

หนังสือ "เรื่องชาวบ้าน"
ผู้เขียน : พิช วิชญ์วิสิฐ
วันที่อ่าน : 10-11 เมษายน 2563


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่มที่ผมไม่อยากให้จบเลยยย อยากให้หนาสัก 300 หน้า  เรียกได้ว่า อ่านเพลินตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่เบื่อเลย

         ขึ้นชื่อว่า "เรื่องชาวบ้าน" เป็นใครก็อยากรู้อยากเผือก ยิ่งเป็นเรื่องชาวบ้านของศิลปินที่เราชอบแล้วเนี่ย เราก็ยิ่งอยากเผือก! นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงอยากเผือก เอ๊ย อยากอ่านหนังสือเล่มนี้มาก

         พอได้อ่านจบแล้วก็ได้เผือกสมใจ ได้รู้จักเรื่องราวต่าง ๆ มากมายผ่านสำนวนการเล่าเรื่องที่เหมือนเม้าท์ให้ฟัง  ไม่อยากเล่ามาก เดี๋ยวจะหาว่าสปอยล์  เอาเป็นว่า ใครชอบเผือกเรื่องชาวบ้าน หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคุณ

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563

【รีวิว】ศพใต้เตียง

หนังสือ "ศพใต้เตียง"
ผู้เขียน : สรจักร ศิริบริรักษ์
วันที่อ่าน : 10 เมษายน 2563 (วันเดียวจบ)


         ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าผมไม่เคยรู้จักผลงานของนักเขียนท่านนี้  พอได้มารู้จักและอ่านผลงานของท่านแล้ว ผมก็พบความสนุกที่ไม่ได้พบมานานแล้วในผลงานเรื่องสั้นของไทย เป็นความสนุกแบบลึกลับซ่อนเงื่อนในแบบที่ผมชอบ555  ต้องขอบคุณพี่พิช วิชญ์วิสิฐ ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ผมนะคร้าบ!

         คุณสรจักรเป็นนักเขียนไทยที่สร้างสรรค์งานเขียนได้แปลกและแหวกแนวจากนักเขียนไทยท่านอื่น ๆ  ผมคิดว่ามีความคล้ายคลึงกับงานของเอโดงาวะ รัมโป กับโรอัลด์ ดาห์ล  เรื่องสั้นของคุณสรจักรจะหักมุมเกือบทุกเรื่อง ทำให้ผู้อ่านอย่างเรา ๆ ลุ้นตลอดเวลาว่าจะหักมุมอย่างไร

         "ศพใต้เตียง" เล่มนี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องหักมุม  บางเรื่องก็หักแบบหักศอกเลยทีเดียว แต่บางเรื่องก็หักน้อยไปหน่อย เดาได้ (ซึ่งผมเสียด๊ายเสียดาย)  ใครที่ชอบเรื่องสั้น (สั้นสมชื่อ ไม่ยาวมาก) อ่านเพลิน ๆ แต่สนุกมาก แนะนำเลยครับเล่มนี้

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】トットチャンネル (นางสาวโต๊ะโตะ)

หนังสือ『トットチャンネル』(นางสาวโต๊ะโตะ)
ผู้เขียน : คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ (黒柳徹子)
ผู้แปล : ผุสดี นาวาวิจิต
วันที่อ่านจบ : 8 เมษายน 2563

         จบลงด้วยความประทับใจครับ สำหรับหนังสือเรื่อง "นางสาวโต๊ะโตะ" หรือในชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า "โต๊ะโตะจันเนรุ" (เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า "โต๊ะโตะจัง" กับคำว่า "แชนแนล (channel)"

         ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกตอนม.ต้น แล้วก็ได้มีโอกาสอ่านอีกครั้งตอนปิดเทอมก่อนขึ้นปี 2 แต่อ่านไม่จบ มาได้อ่านจนจบเอาตอนจะจบปี 2 แล้ว  เรียกได้ว่า เป็นหนังสือที่ใช้เวลาอ่านนานมาก

         หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวชีวิตของคุณคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ตั้งแต่ก่อนเข้าทำงานที่ช่อง NHK ของญี่ปุ่น จนกระทั่งได้ทำงานที่นั่นมาสักระยะหนึ่งแล้ว  เรา ๆ ผู้อ่านจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิตของผู้เขียน ตั้งแต่ผู้เขียนยังเป็นเด็กฝึกหัด ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวงการบันเทิงเท่าไหร่ จนกระทั่งเป็นคนในวงการบันเทิงเต็มตัว

         การเล่าเรื่องของผู้เขียนนั้นก็สนุกตามเคย  มีการสอดแทรกมุกตลกเป็นระยะ  ส่วนที่ผมชอบเป็นพิเศษคือผู้เขียนทำให้ผู้อ่านได้รู้จักวงการบันเทิงญี่ปุ่น (ในสมัยนั้น) ได้รู้จักคนดังมากมาย ได้รู้จักวิธีการทำงานของคนในวงการ  ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในอินเทอร์เน็ต  นอกจากความสนุกแล้ว บางบทยังมีความซาบซึ้งกินใจที่อ่านแล้วน้ำตาเอ่อเบา ๆ อีกด้วย

คำคมจากหนังสือ『トットチャンネル』


お化粧品てね、つけることより、
取ることを大切に考えたほうが、いいのよ。
เครื่องสำอางนี่
เวลาทำความสะอาดสำคัญกว่าเวลาที่ทาเข้าไปนะ
- 藤原あき (ฟูจิวาระ อากิ), หน้า 249 -

テレビは、すべてが、使い捨て
วงการโทรทัศน์ใช้คนแบบ'ใช้แล้วทิ้งเลย'
- หน้า 312 -

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563

【รีวิว】การเมืองแห่งความหวัง

หนังสือ "การเมืองแห่งความหวัง"
ผู้เขียน : ปิยบุตร แสงกนกกุล
วันที่อ่าน : 10-18 มีนาคม 2563


         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือซึ่งรวบรวมบทสัมภาษณ์ การบรรยาย การอภิปรายต่าง ๆ ของอาจารย์ป๊อก (ปิยบุตร แสงกนกกุล)  การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจเจตนารมณ์ในการลงเล่นการเมืองของอาจารย์ป๊อกมากขึ้น ทำให้ผมเข้าใจเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยมากขึ้น
         การได้อ่านหนังสือเล่มนี้หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบนั้น อาจทำให้ผมมีความรู้สึกร่วมที่แตกต่างจากผู้อ่านท่านอื่น เพราะผมรู้สึกว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้นั้นอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น  การเมืองที่หลายคนมองว่าไกลตัวนั้นแท้จริงแล้วอยู่ใกล้ตัวเรามาก มิหนำซ้ำยังส่งผลกระทบต่อเราอย่างเหลือเชื่อ
         ผมอยากขอบคุณอาจารย์ป๊อกที่ยอมลาออกจากอาชีพที่อาจารย์รักที่สุดมาลงเล่นการเมืองเพื่อเป็นผู้แทนของพวกเราทุกคน  ขอบคุณอาจารย์สำหรับทุกความเสียสละ  พวกเราจะไม่ลืมอาจารย์ครับ

คำคมจากหนังสือ "การเมืองแห่งความหวัง"


สิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์คือจินตนาการ
มันทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในทุกที่ทุกโอกาส
- หน้า 48 -

การต่อสู้ในที่นี้ไม่ใช่การโค่นล้มล้างผลาญ
แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเชื้อเชิญให้ฝ่ายนั้นได้คิดว่า
คุณเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลงนี้เอาไว้ไม่ได้
สุดท้ายต้องเปลี่ยนด้วยกันเพราะทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติ
- หน้า 53 -

จงอย่าคิดว่า
เราหมดโอกาส เราสิ้นหวัง
เพราะถ้าคิดว่าเราหมดโอกาสแล้ว เราสิ้นหวังแล้ว
เผด็จการที่ครองเมืองอยู่จะยิ้มและหัวเราะทุกวัน
- หน้า 140 -

องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่ง
ในระบอบประชาธิปไตย ในระบบนิติรัฐ
เพราะเป็นองค์กรสำคัญในการตรวจสอบ
แต่ปัญหาก็คือ แล้วใครจะตรวจสอบท่าน
- หน้า 168 -

การวิพากย์วิจารณ์จึงไม่ใช่การทำลายศาลรัฐธรรมนูญ
แต่เป็นเกราะคุ้มกันให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ
- หน้า 177 -

เมื่อเราตั้งคำถาม
เมื่อเราต่อต้าน
เมื่อเราขัดขืน
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการยืนยันว่าเรามีชีวิตจริง ๆ
เราไม่ใช่หุ่นยนต์หรือสัตว์
- หน้า 213 -