วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

【รีวิว】ลงเรือแป๊ะ

หนังสือ "ลงเรือแป๊ะ"
ผู้เขียน : วิษณุ เครืองาม
วันที่อ่าน : 18 - 23 เมษายน 2567


         “ลงเรือแป๊ะ” เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมอ่านเพลินด้วยความสุช  เนื้อหาทุกบทอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวสนุก ๆ และหลายเรื่องเป็นเรื่องวงใน ที่เราไม่มีทางหาอ่านได้ที่อื่น  ส่วนที่ผมชอบเป็นพิเศษคือการบอกเล่าเรื่องราวของ คสช. ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร เป็นรัฐบาลประยุทธ์ 1 จนส่งไม้ต่อให้รัฐบาลประยุทธ์ 2  คำบอกเล่าของผู้เขียนทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของพลเอกประยุทธ์มากขึ้น  ทำให้เข้าใจตัวตนของเขามากขึ้น
         นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังเล่าเรื่องสนุก ๆ ทั่วไปเกี่ยวกับการเมืองไทย เช่น อาหารการกินเวลาประชุม ครม.  เรื่องนี้ผมชอบมากเป็นพิเศษ เพราะได้รู้ว่า ครม. เขารับประทานอาหารอะไรกัน (แต่หลายอย่างดูน้ำตาลสูงมาก คิดว่าต้องระวัง)  นอกจากนั้นก็มีเรื่องการปรับ ครม. (ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก) เรื่องนายกในอดีต ว่าแต่ละท่านเป็นคนอย่างไร ฯลฯ
         ใครที่สนใจการเมืองไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะชอบพรรคไหน อยากให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู แล้วคุณจะเข้าใจการเมืองไทยได้รอบด้านมากขึ้น

วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2566

【รีวิว】พระอาทิตย์เที่ยงคืน

หนังสือ "พระอาทิตย์เที่ยงคืน" (白夜行)
ผู้เขียน : ฮิงาชิโนะ เคโงะ (東野圭吾)
วันที่อ่าน : 10 มิถุนายน - 5 กันยายน 2566


         (เล่มนี้ผมอ่านเป็นภาษาญี่ปุ่นครับ)

         เกือบ 3 เดือนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ กับพัฒนาการของตัวละครเกือบ 20 ปี...

         พระอาทิตย์เที่ยงคืน เป็นผลงานของฮิงาชิโนะ เคโงะอีกเล่มหนึ่งที่หลายคนบอกว่าสนุกมาก (และหนามาก)  หลังจากอ่านจบแล้วก็บอกได้เลยว่าสนุกจริง (และหนาจริง)  เนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบร้อยเรียงกันได้อย่างลงตัว ไม่มีตอนไหนเลยที่ใส่มายืดเยื้อไม่จำเป็น  ทุก ๆ บทที่อ่านไปคือการเติบโตของตัวละครที่ผู้อ่านได้ค่อย ๆ รู้จักพวกเขามากขึ้น  ตอนจบของเรื่องก็ทำได้ตราตรึง และทิ้งหลายสิ่งไว้ให้ผู้อ่านได้ขบคิด

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2566

【รีวิว】ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์

หนังสือ "ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์"
ผู้เขียน : Oliver Burkeman
ผู้แปล : วาดฝัน คุณาวงศ์
วันที่อ่าน : 15 กุมภาพันธ์ - 8 สิงหาคม 2566


         หนังสือ "ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์" เล่มนี้ ทำให้เราตระหนักว่าชีวิตของเรานั้นสั้นแค่ไหน  หลายคนคงคาดไม่ถึงแน่ ๆ ว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนเรานั้น ยาวเพียงสี่พันสัปดาห์เท่านั้นเอง  หนังสือเล่มนี้สอนให้เรารู้จักยอมรับขีดจำกัดของชีวิต และปล่อยวางจากการยึดติดกับการใช้เวลาให้คุ้มค่า

คำคมจากหนังสือ "ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์"


บ่อยครั้งที่ความไม่ราบรื่นของชีวิต
คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตน่าอยู่
- หน้า 46 -

การมีปัญหาอยู่ในชีวิตของคุณ
ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการดำรงอยู่ที่มีความหมาย
แต่เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่นั้นต่างหาก
- หน้า 166 -

เมื่อคุณไม่ต้องกล่อมตัวเองว่าคุณจำเป็นต้องทำทุกอย่าง
คุณก็มีอิสระที่จะจดจ่อกับการทำแค่ไม่กี่อย่างที่สำคัญ
- หน้า 213 -

วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2566

【รีวิว】6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519

หนังสือ "6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519"
ผู้เขียน : ธงชัย วินิจจะกูล
วันที่อ่าน : 29 มีนาคม - 9 เมษายน 2566


         ผมรู้สึกโชคดีมาก ๆ ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้  หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมีมุมมองเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เปลี่ยนไป เป็นมุมมองที่ลึกขึ้น ชัดขึ้น และรอบด้านมากขึ้น  นับเป็นหนังสือที่บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อีกเล่มหนึ่งที่คนไทยควรอ่าน เพราะเราคงไม่มีวันพูดได้เต็มปากว่ารู้จักประเทศไทยของเราดีพอ หากไม่เคยทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย
         ส่วนที่ผมชอบที่สุดของเล่ม คือส่วนท้าย ๆ ที่ อ.ธงชัย ท่านบอกเล่าเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลา และส่วนที่เป็นคำประกาศ ณ วาระ 20 ปี 6 ตุลา  อยากให้ทุกคนได้อ่านจริง ๆ ครับ

คำคมจากหนังสือ "6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519"


ตำราเรียนเป็นผลเป็นปลายทาง
ของการต่อสู้ระหว่างความทรงจำแบบต่าง ๆ
ไม่ใช่จุดเริ่มต้น
- หน้า 184 -

ชีวิตที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
คือชีวิตที่มีเกียรติตลอดทั้งชีวิต
และไม่เคยแพ้ และไม่มีวันแพ้
ไม่ว่าจะแพ้ชนะในเหตุการณ์ทางการเมืองอีกกี่ครั้งก็ตาม
- หน้า 228 -

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566

【รีวิว】นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง

หนังสือ "นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง"
ผู้เขียน : สมชาย ปรีชาศิลปกุล
วันที่อ่าน : 20 ธันวาคม 2565 - 16 มีนาคม 2566


         หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ บอกเลยครับว่าได้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญไทยแบบเนื้อ ๆ เน้น ๆ มากครับ นอกจากนั้นยังได้เห็นพัฒนาการของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและได้เห็นภูมิหลังของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์  โดยผู้เขียนได้ยกคำพูดในวาระการประชุมมาประกอบ ทำให้ผู้อ่านเห็นบริบทของสังคมไทยและแนวคิดของชนชั้นนำที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยได้อย่างแจ่มชัด

         หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ต่อการเรียนของผมอย่างมาก และผมคงต้องกลับมาใช้หนังสือเล่มนี้อ้างอิงในการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

【รีวิว】พ่อรวยสอนลูก

หนังสือ "พ่อรวยสอนลูก"
ผู้เขียน : Robert T. Kiyosaki
ผู้แปล : จักรพงษ์ เมษพันธุ์
วันที่อ่าน : 7 กันยายน 2565 - 15 กุมภาพันธ์ 2566


         ผมได้รับความรู้ทางการเงินดี ๆ มากมายจากหนังสือเล่มนี้ ผ่านการบอกเล่าแนวคิดของสองพ่อ คือ "พ่อรวย" และ "พ่อจน"  หนังสือเล่มนี้ทำให้มุมมองที่ผมมีต่อโลกการเงินกว้างขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมใส่ใจหาความรู้ในด้านนี้ต่อไป

คำคมจากหนังสือ "พ่อรวยสอนลูก"


ถ้าเธอไม่รู้จักควบคุมและระวังความคิดของตัวเอง
ความกลัวและความอยากจะพาเธอไปติดกับดักชีวิตที่ยิ่งใหญ่
- หน้า 56 -

การมีชีวิตอยู่กับความกลัว
จนไม่กล้าเดินตามความฝันของตัวเองเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก
- หน้า 56 -

วิธีเดียวที่จะควบคุมความกลัวและความโลภได้คือ
เราต้องเผชิญหน้ากับมันและเอาชนะมันด้วยการเลือกคิดในทางที่ถูกต้อง
- หน้า 58 -

ความรู้คือสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาและทำให้เราร่ำรวยขึ้น
การมีเงินแต่ไม่มีความรู้
ต่อให้มีมากแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะหมดไปในไม่ช้า
- หน้า 65 -

ทุกครั้งที่มนุษย์ประสบปัญหา
ไม่ว่าในเรื่องใด
แสดงว่าเขากำลังขาดความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อยู่
- หน้า 74 -

ปัญหาของการลงทุนที่ปลอดภัยก็คือ
มันเป็นการลงทุนที่แทบไม่ได้อะไรกลับมาเลย
- หน้า 150 -

ความรู้คือทรัพย์สิน ความไม่รู้คือความเสี่ยง
- หน้า 158 -

คนที่ยุ่งที่สุดคือคนที่ขี้เกียจที่สุด
- หน้า 192 -

จงกำไรเมื่อซื้อ ไม่ใช่ตอนขาย
- หน้า 235 -

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

【รีวิว】มนุษย์ต่างด้าว เรามาอย่างสันติ

หนังสือ "มนุษย์ต่างด้าว เรามาอย่างสันติ"
ผู้เขียน : ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
วันที่อ่าน : 2 มกราคม - 8 กุมภาพันธ์ 2566


         ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามอาจารย์ปวินมานาน เรียกได้ว่าเปิดเฟซบุ๊กอาจารย์ดูแทบทุกวัน ฮ่า ๆ ๆ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักตัวตนของอาจารย์มากขึ้นไปอี๊กก

         ส่วนที่ผมชอบมาก ๆ คือบันทึกการเดินทางที่อาจารย์เล่าเรื่องราวในประเทศต่าง ๆ พร้อมด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทำให้เรารู้สึกสถานที่นั้น ๆ ในแบบลึก ๆ มากขึ้น  บอกตามตรงว่ายังอยากอ่านเรื่องราวการเดินทางของอาจารย์อีก แบบละเอียด ๆ ครับ

         ยังมีอีกส่วนที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ คือ บันทึกการไปพบบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น คุณทักษิณ ที่ทำให้ผมได้เห็นแง่คิดของบุคคลเหล่านั้น ผ่านการบอกเล่าของอาจารย์  ทำให้ผมฉุกคิดอะไรได้หลายอย่างมาก ๆ แม้จะเป็นเพียงบทสั้น ๆ ก็ตาม

         สรุปสั้น ๆ คือ เป็นหนังสือที่ผมอ่านเพลินมาก ๆ (^เวลาด้านบนที่ดูเหมือนอ่านนาน คือติดสอบ ไม่ได้อ่านตอนสอบครับ)  ผมอยากให้มีหนังสือแบบนี้ออกมาอีกมาก ๆ จะอ่านให้หมดเลยครับ

คำคมจากหนังสือ "มนุษย์ต่างด้าว เรามาอย่างสันติ"


อยู่กับคนที่เก่งกว่า
ต้องเรียนรู้เรื่องที่เก่งกว่า
อยู่กับคนที่อ่อนด้อยกว่า
ก็ต้องเรียนรู้ที่จะไม่อ่อนด้อยแบบนั้น
- หน้า 82 -

การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ
ทั้งในแง่ของการมีชีวิตรอด และในแง่ของการทำให้
ชีวิตตัวเองมีความสุข แม้เงื่อนไขที่อยู่รอบตัว
จะไม่เป็นมิตรกับเราก็ตาม
- หน้า 105 -

ความโชคดีในการได้เจอ “เซเลบ”
 ไม่ได้อยู่แค่การได้พบเจอ สัมผัสเขา หรือได้ถ่ายรูปคู่กัน
แต่อยู่ที่การได้เรียนรู้ จากความสำเร็จของคนเหล่านั้น
และคิดได้ว่าจะนำมาปรับใช้ กับชีวิตของเราได้อย่างไร
- หน้า 223 -